เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 51
นายสรพล เถระพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการค้าในตลาดโลกโดยเฉพาะประเทศผู้นำเข้าที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และกลุ่มสหภาพยุโรป ได้หันมาใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี (NTB) แทนมาตรการทางภาษีเพื่อจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากต่างประเทศมากขึ้น เช่น มีการยกประเด็นกฎแหล่งกำเนิดสินค้า สิ่งแวดล้อม แรงงาน สวัสดิภาพสัตว์ และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ขึ้นมาเป็นเงื่อนไขการนำเข้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยด้วย โดยเฉพาะการใช้มาตรการ SPS และมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ที่เห็นชัดเจน ได้แก่ การกำหนดปริมาณสูงสุด (MRLs) ของสารปนเปื้อนและสารตกค้างที่อนุญาตให้มีได้ในสินค้านำเข้า การประเมินความเสี่ยงแมลงศัตรูพืชที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การห้ามนำเข้าเนื้อสุกรจากไทยเนื่องจากโรคปากและเท้าเปื่อย และการกำหนดมาตรการ IRA กุ้งของประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น
จากปัญหาดังกล่าว มกอช. จึงร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการข้าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผู้ส่งออกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระดมแนวคิดเพื่อรวบรวมปัญหาและอุปสรรคในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ยุโรป รัสเซีย ตะวันออกกลาง และตลาดใหม่ในทวีปลาตินอเมริกาและ แอฟริกา นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเกษตรไทยที่มีศักยภาพในการเปิดตลาดเพิ่มเติม เพื่อนำมาจัดทำยุทธศาสตร์การเปิดตลาดสินค้าเกษตรและอาหาร ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การเกษตรต่างประเทศ (2551-2555) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการเจรจาช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า และผลักดันมูลค่าการส่งออกให้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 มิถุนายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=166554&NewsType=1&Template=1