เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 51
ที่ว่าไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ไม่ใช่ว่าเรามีเทคโนโลยีในการทำนาปลูกข้าวที่ทันสมัยหรอกครับ เพียงแต่เรามีพื้นที่ปลูกข้าวที่กว้างใหญ่ไพศาลถึง 57 ล้านไร่ บางพื้นที่ปลูกข้าวได้เพียงปีละ 1 ครั้ง บางพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทานปลูกข้าวได้ 2 ปี 5 ครั้ง
ปีนี้ (2551) กระทรวงเกษตรฯ ประเมินว่าข้าวนาปรังที่กำลังจะเก็บเกี่ยวรุ่นแรกคาดว่าจะได้ผลผลิต 7.621 ตันข้าวเปลือก และรุ่น 2 ที่จะเก็บเกี่ยวปลายเดือนมิถุนายนนี้อีก 3.5 ล้านข้าวเปลือก ส่วนผลผลิตนาปีในปี 2551/2552 คาดว่าจะได้ผลผลิตข้าวเปลือก 23.592 ตันต่อไร่ แต่ถ้าเรามาดูผลผลิตต่อไร่แล้วเฉลี่ยภาพรวมประเทศไทยผลิตข้าวได้ 411 กิโลกรัมต่อไร่ (ไม่รวมข้าวลูกผสม) แต่ก็ดีกว่าปีที่แล้วครับ ปีที่แล้วเราได้ผลผลิตเฉลี่ยตันละ 407 กิโลกรัมต่อไร่
ใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของกรมการข้าวครับ กรมการข้าวระบุว่าภาพรวมของการทำนาระหว่างปี 2550-2554 ได้กำหนดพื้นที่ปลูกข้าวไว้ที่ 57.5 ล้านไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 439 กิโลกรัมต่อไร่ ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามที่ได้ผลผลิต 741 กิโลกรัมต่อไร่ บางข้อมูลระบุว่าได้ 778 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่จีนมีผลผลิตเฉลี่ย 1,002 กิโลกรัมต่อไร่ อินโดนีเซีย 741 กิโลกรัมต่อไร่ และอินเดียได้ 512 กิโลกรัมต่อไร่
ที่เลวร้ายไปกว่านั้น ตอนนี้เวียดนามได้เปรียบเราและทิ้งเราไปไกล ในหลายเรื่องครับ อาทิ ต้นทุนการผลิต ทั้งค่าแรง ค่าปุ๋ย ที่สำคัญเขาหันไปปลูกข้าวลูกผสม หรือไฮบริด (Hybrid) บางพื้นที่มีผลผลิตต่อไร่สูงถึง 2,000 กิโลกรัม ขณะที่ข้าวลูกผสมของเราได้ผลผลิตแค่ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น
ข้าวลูกผสมที่ว่านี้หลายประเทศหันมาสนใจและเริ่มปลูกกันแล้ว บ้านเราหากใครสนใจปีนี้ทีวีเนชั่น หรือเนชั่นแชนแนล ซึ่งเป็นกิจการของเครือเนชั่นกำลังก้าวสู่ปีที่ 9 สื่อเครือเนชั่นจึงเดินสายจัดฝึกอบรมผู้นำท้องถิ่น และจัดสัมมนา "ยุทธศาสตร์ประเทศไทย : ก้าวสู่ศูนย์กลางอาหารและเกษตรโลก" ไปยังภูมิภาค 9 จังหวัดประเดิมก่อนที่ จ.พิษณุโลก
ที่ จ.พิษณุโลกเรากำหนดคร่าวๆ ว่า เป็นวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 ที่โรงแรมท็อปแลนด์ ในช่วงบ่ายเรากำหนดหัวข้อมสัมมนาคือ "ข้าวลูกผสม : ทางเลือกใหม่ของเกษตรกรจริงหรือ?" วิทยากรที่จะมาให้ความรู้ก็คือ ตัวแทนของนักวิชาการ ตัวแทนของภาคเอกชนที่ทำการวิจัยข้าวลูกผสม จะมาเล่าถึงความคืบหน้า ผลดีผลเสียอย่างไร พื้นที่แบบไหนที่ปลูกข้าวลูกผสมได้ ส่วนตัวแทนชาวนาจะมาเสนอให้ทราบว่า แท้จริงแล้วชาวนาต้องการพันธุ์ข้าวแบบไหน เพราะอะไร และมีองค์กรเอกชนที่จะมาบอกว่า ทั่วโลกเขากินข้าวอะไรกัน ปลูกแล้วมีตลาดไหม เป็นต้น
นี่เป็นเพียงคร่าวๆ ก่อนครับ ส่วนรายละเอียดนั้นผมจะเล่าอีกครั้ง หากสนใจเตรียมสำรองที่นั่งได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ที่โทร.0-2338-3356-7 มีที่นั่งจำกัดครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 11 มิถุนายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/06/11/x_agi_b001_206336.php?news_id=206336