เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 51
ภาคตะวันออก....เป็นแหล่งสำคัญในการผลิตผลไม้ และในช่วงฤดูนี้จะมีผลิตผลของทุเรียน มังคุด เงาะ ฯลฯ ออกมาจนเกินความต้องการ...ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นทุกๆปี
กับการปริมาณปริ่มหรือเกินความต้องการนี้ ทำให้ราคาตกต่ำ แม้ว่าภาครัฐจะช่วยผลักดันส่งออกแต่ก็ช่วยได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากผลกระทบในปีนี้ เกษตรกรพากันเอาเงาะมากองกันจนเต็มถนน
คาบเวลาที่ผลไม้อื่นๆกำลังมีปัญหาเรื่องราคา ก็มีผลไม้ชนิดหนึ่งที่จำหน่ายได้อย่างฉลุยคือ ลำไย เนื่องจากว่าผลผลิตที่ออกมาในยามนี้เป็น ช่วงที่ก่อนฤดูกาล (ลำไยทั่วไปมีฤดูการเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคม) จึงทำให้ ผลผลิตเป็นที่ต้องการแก่ผู้บริโภค
นายชำนาญ บัวเฟื่อง เกษตรอำเภอโป่งน้ำร้อน สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร บอกว่า....เฉพาะที่โป่งน้ำร้อนอำเภอเดียวมีเกษตรกรปลูกลำไย พันธุ์อีดอ 3,750 ราย และ ผ่านการรับรองตามระบบ GAP ไปแล้ว 1,300 ราย....พื้นที่ ลูกลำไย 49,000 ไร่ ส่วน ผลิตนอกฤดูมากถึง 35,000 ไร่
ในปีที่ผ่านมามีผลผลิตลำไยนอกฤดูออกมาทั้งสิ้น 61,000 ตัน โดยมีนายทุนมารับซื้อถึงสวนจำนวน 9 ราย เพื่อนำส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และ กัมพูชา ซึ่งราคาต่ำสุดอยู่ที่ กิโลกรัมละ 18 บาท และราคาสูงสุด ประมาณ 40 บาทต่อกิโลกรัม โดยเกษตรกรมี ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 12-20 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรบางรายที่มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ขึ้นไป สามารถจำหน่ายผลผลิตมี กำไรถึง 6 ล้านบาท
นายอำนาจ จันทรส อยู่ที่ บ้านคลองคด หมู่ 7 ตำบลหนองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เป็นผู้หนึ่งที่ผลิตลำไยนอกฤดูเพื่อการส่งออก ทำให้มีรายได้ปีหนึ่งๆเป็นกอบเป็นกำ สามารถหลุดพ้นจากภาวะปัญหาสินค้าล้นตลาดอันเป็นแบบอย่างที่ดีเล่าว่า.... ทำสวนลำไยมา 25 ปี ช่วงแรกผลผลิตออกมาไม่ดีเท่าไหร่ จึงไปศึกษาหาความรู้ในการ ทำลำไยนอกฤดู จากเกษตรอำเภอโป่งน้ำร้อน แนะนำไปพบกับ โกบั๊ก เกษตรกร ซึ่งประสบความสำเร็จในการทำลำไยนอกฤดูมาแล้ว ที่ อำเภอรัตนภูมิ จังหวัดสงขลา
จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 12 ปี ได้ทำลำไยนอกฤดูในพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ แบ่งเป็น 2 โซน ทำการราด สารโพแทสเซียมคลอเรต เพื่อเร่งการออกดอกห่างกันประมาณ 2 สัปดาห์ ในรอบการผลิตที่ผ่านมาได้ผลผลิตลำไยออกมาประมาณ 150-160 ตัน มีพ่อค้ามาซื้อลำไยสดช่อที่สวนในราคากิโลกรัมละ 25-28 บาท โดยมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัม
“การผลิตลำไยนอกฤดูไม่ควรใส่สารเร่งการออกดอกเพื่อมุ่งเอาผลประโยชน์อย่างเดียว ต้องเอาใจใส่ดูแลบำรุงรักษาต้นให้ดีที่สุด เพื่อยืดอายุให้ยาวนานขึ้น หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตป้อนสู่ตลาดแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งให้พร้อมที่จะผลิตรอบใหม่ โดยการ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยขี้ไก่และมูลสัตว์) ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อต้น และ ใส่ปุ๋ยเคมี ร่วมด้วย จะทำให้ ต้นลำไยฟื้นตัวเร็วขึ้น พร้อมที่ราดสารเพื่อเร่งการออกดอกอีกครั้ง” นายอำนาจกล่าว
ชาวสวนลำไยบ้านคลองคด กล่าวด้วยว่า อยากให้รัฐบาลช่วยเปิดตลาดส่งออกกลุ่มใหม่ อย่างเช่น ตะวันออกกลาง และ อินเดีย เพื่อลดการพึ่ง ตลาดจากจีน ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยผลักดันปริมาณการส่งออกสินค้าผลไม้ไทยได้เพิ่มสูงขึ้น ไม่ควรเก็บภาษีซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นการ เพิ่มต้นทุนการผลิต รวมทั้งการอำนวยความสะดวกใน การตรวจวิเคราะห์ และ ออกใบรับรองคุณภาพสินค้า ต้องเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (ONE STOP SERVICE) เนื่องจากผลไม้สดใช้เวลานานมากจะเน่าเสียง่าย
อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรที่สนใจทำลำไยนอกฤดูคุณภาพสูงเพื่อการส่งออก กริ๊งกร๊างหา อำนาจ จันทรส 08-1864-8354 ยินดีให้ความรู้ แต่ต้องอยู่ในเวลาที่เหมาะสม.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 11 มิถุนายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=93045