ป่าไม้โชว์งานวิจัย 'วัสดุทดแทนไม้จากเศษปาล์ม'
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 51
ป่าไม้โชว์งานวิจัย 'วัสดุทดแทนไม้จากเศษปาล์ม'
จากนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มซึ่งนอกจากจะทำให้ได้ผลผลิตปาล์มน้ำมันมีจำนวนมากขึ้นแล้ว เศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็น ใบปาล์ม ทางใบปาล์ม ทลายปาล์มเปล่า หรือแม้กระทั่งลำต้นปาล์ม ยังสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย กรมป่าไม้โดยสำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ ประสบความสำเร็จในการนำเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันกลับมาผลิตเป็นวัสดุทดแทนไม้ ในเบื้องต้น ภายหลังเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชนแล้ว คาดว่าจะสามารถนำเศษเหลือทิ้งจากผลผลิตปาล์มน้ำมันกลับมาใช้ได้อีกประมาณ 30% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจและความต้องการของผู้บริโภคด้วย
สมชัย เพียรสถาพร อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า เมื่อก่อนเศษเหลือทิ้งจากสวนปาล์ม ยังไม่มีใครนำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง กากเศษเหลือที่นำมาใช้ประโยชน์โดยการทำเป็นปุ๋ยบ้าง ทำเชื้อเพลิงบ้าง แต่ก็ยังมีการใช้ในปริมาณที่เล็กน้อยเท่านั้นเทียบกับเศษเหลือทิ้งที่มีอยู่ ส่วนทางใบปาล์มน้ำมันซึ่งมีปริมาณ 15 ล้านตันต่อปี ใบปาล์มอีก 4.5 ล้านตัน ทลายเปล่าที่แยกผลปาล์มออกแล้วมีประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ส่วนต้นปาล์มที่มีอายุมากแล้วและให้ผลผลิตต่ำลงเรื่อย ๆ หรือเป็นต้นเพศผู้ สุดท้ายชาวสวนก็ตัดทิ้งเพื่อปลูกต้นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ต้นปาล์มแก่เหล่านี้จะถูกทิ้งไว้ในสวนให้เน่าเปื่อยหรือเผาทิ้งไปโดยมีปริมาณถึง 81 ล้านลูกบาศก์เมตร ตรงจุดนี้ กรมป่าไม้จึงทำการวิจัยเพื่อนำต้นปาล์มอายุมากผลผลิตต่ำและเศษชีวมวลปาล์มเหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง โดยนำมาทำเป็นวัสดุทดแทนไม้ซึ่งทำให้ลดการใช้ไม้จริงลงได้มากทีเดียว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์
ด้าน สุนทร วัชรกุลดิลก ผู้อำนวยการสำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ ชี้แจงว่า เศษเหลือของปาล์มน้ำมัน นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการนำมาใช้ทำเป็นวัสดุทดแทนไม้ ไม่ว่าจะเป็น ไม้แผ่นแปรรูป (Sawn Lumber) ไม้ประสาน (Laminated Board) แผ่นชิ้นไม้อัด (Particle board) แผ่นใยไม้อัด (Fiberboard) แผ่นไม้อัดซีเมนต์ (Wood Particle Cement Board) และไม้พลาสติก (Wood Plastic Composites) รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันนับเป็นโอกาสทองของตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากวัสดุทดแทนไม้ เนื่องจากน้ำยางพารามีราคาดี จึงทำให้เกษตรกรชาวสวนชะลอการตัดไม้ยางพาราซึ่งกว่า 60% ของการผลิตเฟอร์นิเจอร์ในประเทศนิยมใช้ไม้ยางพาราเป็นวัตถุดิบหลัก ทำให้ไม้ยางพารามีปริมาณน้อยลง จึงเป็นโอกาสที่ผู้ผลิตจะหันมาใช้วัสดุทดแทนไม้ผสมผสานกับไม้จริงมากขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกกว่าและมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่ความแข็งแรงทนทานก็ไม่ได้แพ้ไม้จริงเท่าใดนัก
“ตลาดส่งออกในส่วนของเฟอร์นิเจอร์กับแผ่นอัดเพื่อการก่อสร้าง สามารถนำเงินเข้าประเทศ ประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งนับว่าเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงมาก ดังนั้น เมื่อไม้หายากมากขึ้นและมีราคาแพงขึ้นทุกวัน จะเป็นโอกาสของวัสดุทดแทนไม้เข้ามาแทนที่ โดยคาดว่าจะสามารถทดแทนไม้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และแผ่นอัดเพื่อการก่อสร้างได้กว่า 30%” ผู้อำนวยการสำนักฯ กล่าว
ประโยชน์จากการใช้วัสดุทดแทนไม้อีกประการหนึ่ง คือ ช่วยลดปัญหามลพิษ ที่เกิดจากการเผาทิ้งเศษปาล์มน้ำมัน นับเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาโลกร้อน และยังช่วยลดการนำเข้าไม้ธรรมชาติจากต่างประเทศเพื่อนำมาบริโภคในประเทศได้มากกว่า 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี
นอกจากเฟอร์นิเจอร์แล้ว วัสดุทดแทนไม้ยังสามารถนำมาผลิตผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิ เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน ของชำร่วย ฯลฯ โดยผู้สนใจสามารถเข้าอบรมความรู้ได้ในโครงการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การแปรรูปเศษวัสดุไม้และเศษวัสดุการเกษตรเพื่อใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ทดแทนไม้” ซึ่งเร็ว ๆ นี้ กรมป่าไม้ โดยสำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ จะเปิดอบรมโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ใด ๆ ให้กับผู้สนใจถึง 4 รุ่นด้วยกัน สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2561-4292-3 ต่อ 471
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 11 มิถุนายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=166671&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น