เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 51
นายชัยยัน อยู่นันต์ 80 หมู่ 7 บ้านหนอง มังกะหร่า ต.ทะเลบก อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี เป็นเกษตรกรที่ทำการเกษตรเขตพื้นที่น้ำฝนไม่มีระบบชลประทาน แต่แก้ไขปัญหาด้วยการบริหารจัดการน้ำฝนที่มักจะไม่แน่นอนควบคู่กับน้ำบาดาลที่ขุดขึ้นมาในพื้นที่อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ จนประสบความสำเร็จในการทำการเพาะปลูก จนได้รับการยอมรับจากเกษตรกรในพื้นที่อย่างกว้างขวาง
และเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับรางวัลชมเชยผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ ในเขตพื้นที่อาศัยน้ำฝนไม่มีระบบชลประทาน แต่แก้ไขปัญหาบริหารจัดการน้ำฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้จนประสบความสำเร็จ จากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อวันก่อนทางสำนักงาน กปร.ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางเข้าเยี่ยมชมวิธีการในการทำการเกษตรของเกษตรกร รายนี้
นายชัยยัน มีเนื้อที่ทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ 17 ไร่ แบ่งเป็น นาข้าว ปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน 3 ไร่ มีการปลูกพืชหลังนา ขุดสระน้ำภายในพื้นที่ขนาด 20 x 20 x 1.5 ลบ.ม. 2 บ่อ ขุดบ่อบาดาล 1 บ่อ ปลูกพืช 15 ไร่ ประกอบด้วย พุทรา มะพร้าว กล้วย มะม่วง กระท้อน แตงโม เลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ และสุกรขุน เพื่อเอามูลมาทำปุ๋ยแบบระบบการบำบัด และ ส่งเข้าระบบน้ำในแปลงเพื่อเป็นปุ๋ยในสวน แบบระบบน้ำหยด เลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน เพื่อเพิ่มรายได้หลักจากการทำสวนพุทรา
สำหรับพุทรานั้นเป็นผลไม้ที่มีการปลูกกันเป็นอาชีพในหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่ใช้สำหรับบริโภคสดภายในประเทศ พุทราเป็นไม้ผลที่มีทรงพุ่มขนาดกลาง สามารถขึ้นได้ในดินร่วน ดินเหนียวร่วน มีความทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดีพอสมควร จะเริ่มให้ผลผลิตแล้วหลังจากปลูก 2 ปี สามารถให้ผลผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 20 ปี อายุตั้งแต่เริ่มออกดอกถึงดอกบานประมาณ 20 วัน หลังจากดอกบานจนผลถึงผลแก่ ประมาณ 60-75 วัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อต้นสำหรับอายุ 2 ปี ที่เริ่มให้ผลผลิตแล้วประมาณ 100-150 กก.ต่อต้นต่อปี
สำหรับแปลงปลูกของนายชัยยัน จะปลูกในช่วงต้นฤดูฝน โดยขุดหลุมปลูกขนาดกว้าง และลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ผสมดิน ปุ๋ยคอก ใช้ระยะปลูกประมาณ 3x3 หรือ 3x4 เมตร เนื่องจากเป็นพื้นที่ดอน การให้น้ำพุทราในระยะที่เริ่มปลูกจะให้ทุกวัน ช่วงก่อนออกดอก 1 เดือน งดการให้น้ำและหลังจากติดผลอ่อนแล้ว ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอเหมาะสมกับความต้องการ
มีการตัดแต่งกิ่งพุทราเมื่อต้นพุทรามีอายุ 1-2 ปี เพียงเล็กน้อย ให้ได้ทรงต้นตามที่ต้องการ การตัดแต่งกิ่งเมื่อต้นพุทรามีอายุ 3 ปี นั้น นายชัยยันบอกว่า ควรตัดลำต้นให้สั้นลงเหลือไว้แต่กิ่งที่แข็งแรงสมบูรณ์เพื่อให้แตกกิ่งใหม่ต่อไป โดยตัดกิ่งกระโดงให้สูงจากโคนต้นประมาณ 30-50 ซม.
การเก็บเกี่ยวใช้มือปลิดจากต้นโดยตรง โดยเลือกเก็บผลที่แก่เต็มที่ จากนั้นจึงนำไปคัดขนาดเพื่อบรรจุและส่งขายต่อไป ในอุณหภูมิปกติสามารถเก็บรักษาพุทราได้ 5-7 วัน แต่ถ้าเก็บในอุณหภูมิ 15-17 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บรักษาได้ 15-20 วัน
หลังการเก็บเกี่ยว คัดคุณภาพ ตรวจดูโรคและแมลงและคัดขนาดผล ล้างผลทำความสะอาด แล้วนำส่งตลาด ในพื้นที่อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันเริ่มมีการปลูกพุทรา กันมากขึ้น เนื่องจากมีการจัดระบบการเพาะปลูกและมีตลาดรองรับแน่นอน โดยเฉพาะกรณีของเกษตรกรรายนี้ได้เข้ามามีผลให้เกิดการยอมรับของตลาด จนมีการสั่งพุทราอย่างต่อเนื่องจนผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการในขณะนี้
และจากการทำการเกษตรด้วยวิธีดังที่กล่าวมาข้างต้นยังผลให้สามารถมีกินมีใช้อยู่อย่างสบายและปกติแม้เศรษฐกิจทั่วไปจะอยู่ในสภาวะขาลงอย่างทุกวันนี้ก็ตาม.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 มิถุนายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=166793&NewsType=1&Template=1