ข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัส เสริมอาหารไก่ เพิ่มไข่แดง ผลผลิต และลดคอเลสเตอรอล
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 51
ข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัส เสริมอาหารไก่ เพิ่มไข่แดง ผลผลิต และลดคอเลสเตอรอล
ไข่ไก่ เป็นอาหารที่มีคุณค่าอเนกอนันต์ เป็นอาหารโปรตีนราคาถูก เสริมสมอง สร้างปัญญา เป็นอาหารที่นิยมบริโภคจนต้องมีติดไว้ในครัวเรือน ง่ายต่อการประกอบเป็นอาหาร และทำได้หลายชนิด คนไทยนิยมบริโภคไข่แดงที่มีสีเข้ม ซึ่งได้จากอาหารที่แม่ไก่ไข่กิน เข้าไป หรือโดยการเสริมสีสังเคราะห์ลงในอาหาร นักอาหารสัตว์หลายท่านพยายามศึกษาหาแหล่งวัตถุดิบธรรมชาติ ที่ให้สารสี เช่น ข้าวโพด ใบกระถิน และกลีบดอกดาวเรือง เป็นต้น
โรงงานอาหารสัตว์ และผู้เลี้ยงไก่ไข่มักเติมสารสีสังเคราะห์ คือ คาโรฟิลล์ในอาหารไก่ เพื่อปรับปรุงสีผลผลิตให้ดีขึ้น สารสีสังเคราะห์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง เป็นเหตุให้ต้นทุนการผลิตสูง โดยไม่ได้มีคุณค่าทางอาหารแต่อย่างใด การใช้บางครั้งมีข้อจำกัด ส่วนสารสีที่สกัดจากดอกดาวเรืองหรือกลีบดอกดาวเรืองแห้งมีสารแซนโทรฟิล ในปริมาณสูง ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องปริมาณการใช้ แต่มีข้อจำกัดในเรื่องต้นทุนที่สูง
จากสาเหตุดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร. บุษบา ยงสมิทธ์ อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้คัดเลือกสายพันธุ์เชื้อราข้าวแดงที่สามารถหมักจากอาหารเหลวสูตรง่าย ๆ ที่ประกอบด้วย แป้งมันสำปะหลังและแป้งถั่วเหลืองให้ได้สารสีแดงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 รวมทั้งได้พัฒนาสายพันธุ์เชื้อราข้าวแดงกลุ่มนี้ให้ได้สายพันธุ์กลายสีแดง สีเหลือง และไม่สร้างสี (albino mutants) สามารถนำมาเพาะเลี้ยงแบบหมักแข็งบนเมล็ดข้าวได้โดยตรง และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มคุณค่าวัตถุดิบทางการเกษตรของไทยให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ใหม่และสารธรรมชาติอื่น ๆ ที่เสริมสุขภาพ มีตลาดรองรับทั้งด้านอาหารและทางเภสัชกรรมได้ (nutraceuticals หรือ functional foods)
จากนั้นนำเชื้อราข้าวแดง ที่เตรียมได้จากห้องปฏิบัติการภาควิชาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาทดสอบในอาหารไก่ไข่ ที่ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร ภายใต้การควบคุมดูแลของ รองศาสตราจารย์ ดร.สุภาพร อิสริโยดม เพื่อหาระดับที่เหมาะสมในแง่การเพิ่มสีไข่แดง เพิ่มผลผลิตไข่ คุณภาพไข่ การลดคอเลสเตอรอลในไข่แดงและซีรัม ตลอดจนความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ
โดยใช้ไก่ไข่เพศเมียพันธุ์ทางการค้าที่กำลังให้ผลผลิตไข่จำนวน 360 ตัว แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ซ้ำ ๆ ละ 15 ตัว แต่ละกลุ่มได้รับอาหารทดลอง ดังนี้ กลุ่มที่ 1 สูตรควบคุม (ไม่มีการเสริมสารสีทางการค้า และข้าวแดงลงในอาหาร) กลุ่มที่ 2 สูตรอาหารควบคุมเสริมสารสีทางการค้า กลุ่มที่ 3, 4, 5 และ 6 สูตรอาหารควบคุมเสริมข้าวแดงจากเชื้อราโมแนส คัส 0.25, 0.50, 1.25 และ 2.50% ในอาหาร ตามลำดับ โดยทำการทดลองเป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า ไก่ไข่กลุ่มที่ได้รับการเสริมข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัส 2.50% จะให้ไข่แดงที่มีสีเข้มที่สุด (พัดสีเบอร์ 12.30) เมื่อเทียบกับไก่ไข่กลุ่มอื่น ๆ
นอกจากนี้ การเสริมข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัสในอาหารยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ในซีรัมของแม่ไก่รวมทั้งในไข่แดง และหากเสริมในอาหารไก่ไข่ตั้งแต่ 0.5% ขึ้นไป จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในไข่แดงลงได้กว่า 20% ขึ้นไป และอาจลดลงได้ถึง 40% หากเสริมในอาหาร 2.5% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับที่เสริมลงในอาหาร งานวิจัย ในไก่ไข่นี้กำลังอยู่ในระหว่างทดสอบ เพื่อหาระดับที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิตเป็นเกณฑ์รวมทั้งหาวิธีการขยายการหมักที่มุ่งการประหยัดพลัง งานและต้นทุนต่อไป จะเห็นได้ว่าข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัสสายพันธุ์ที่ นักวิจัยได้ทำการคัดเลือกไม่เพียงแต่ ช่วยเพิ่มสีของไข่แดงแต่ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในซีรัมในแม่ไก่และในไข่แดงของไข่ไก่อีกด้วย
ผลของงานวิจัยนี้จะช่วยให้คนที่ไม่กล้าบริโภคไข่เพราะกลัวไขมันอุดตันในเส้นเลือดคงจะหันมาบริโภคไข่มากขึ้น และยังช่วยลดการนำเข้าสารสีสังเคราะห์จากต่างประเทศอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 มิถุนายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=166795&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น