เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 51
ต้นสาคูเป็นไม้ยืนต้น จะมีลักษณะกลม เมื่อต้นแก่เต็มที่จะมีจั่นดอก แตกออกตรงส่วนยอด ลำต้นคล้ายมะพร้าว มีความสูง 10-20 เมตร มีเปลือกห่อหุ้ม แต่ไม่มีกิ่งสาขา
สาคู เป็นพืชท้องถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเลเซีย นิวกินี อินโดนีเซีย และหมู่เกาะต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทยมีในภาคใต้ เช่น จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา สตูล ฯลฯ บริเวณสภาพที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง หรือในพื้นที่ที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง หรือในพื้นที่ที่มีการระบายน้ำไม่ดี พืชเศรษฐกิจไม่สามารถขึ้นได้ จะมีต้นสาคูขึ้นเรียงรายอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติ และสามารถเจริญเติบโตได้ดี เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอยู่ในตระกูลปาล์ม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Metroxylon sagus
เป็นพืชที่ให้คุณประโยชน์กับชาวบ้าน ทั้งทางตรงและทางอ้อม เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของผู้คนมาช้านาน แต่จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการเพิ่มขึ้นของประชากรทำให้ป่าสาคูลดปริมาณลง สาคูสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์โดยใช้ส่วนแกน กลางของลำต้นซึ่งจะมีแป้งมาก เกษตรกรนิยมตัดเป็นท่อน ๆ ปอกเปลือกผ่ากลางลำต้นนำไปวาง ให้สุกร เป็ด ไก่แทะและจิกกินเป็นอาหาร บางรายขูดหรือบดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตากให้แห้งเพื่อเก็บไว้ใช้ได้นาน ๆ หรือนำไปผสมกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ประเภทอื่น ๆ เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์
สาคูสามารถนำมาสกัดเป็นแป้งได้เมื่ออายุ 9-10 ปี ซึ่งเป็นระยะตั้งท้อง เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตอย่างหนึ่งที่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ในปัจจุบัน มีพลังงานสูงมาก แต่จะมีโปรตีนและไขมันต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับแป้งจากข้าวและมันสำปะหลัง
โดยเฉพาะที่ช่วงความสูง 7.5 ถึง 9 เมตร จากพื้นดินจะมีแป้งมากที่สุด สาคูต้นหนึ่งจะสามารถผลิตแป้งได้ประมาณ 100-500 กก. การนำไปทำแป้ง ต้องทำหลังจากโค่นต้นสาคูภายใน 1 สัปดาห์ มีโปรตีนต่ำประมาณ 1-2% ไขมันต่ำประมาณ 1% และมีแร่ธาตุต่ำ มีเยื่อใยสูงประมาณ 10% สาคูบดและตากแห้งสามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานในสูตรอาหารได้เช่นเดียวกับมันเส้น เนื้อในลำต้นของสาคูนำมาทำแป้งสาคูทำขนม หรือแป้งดิบทำอาหารสัตว์ อาทิ เป็ด ไก่ ปลา หรือหมูพื้นบ้าน กินได้ ตลอดจนนำลำต้นเลี้ยงด้วงสาคู ก็ได้เช่นกัน
เปลือกนอก ใช้ทำเชื้อเพลิง กระถางต้นไม้หรือปูพื้น ใบนำมาเย็บเป็นตับจากสำหรับมุงหลังคาและกั้นฝา และห่อขนมจาก ตับจาก จากใบสาคูมีความทนทานกว่าตับจากที่ทำจากใบปาล์มชนิดอื่น ๆ โดยปกติตับจาก จากใบสาคูจะมีอายุการใช้ประโยชน์ 6-10 ปี และหากนำไปแช่น้ำประมาณ 15 วันถึง 1 เดือนก่อนนำมาใช้งาน อาจใช้งานได้นานกว่า 10 ปีทีเดียว ปัจจุบันมีการผลิตออกจำหน่ายแถบจังหวัดตรังในราคาตับละ 8 บาท ก้านใบย่อยใช้ทำไม้กวาด ยอดอ่อนสาคูนำมารับประทาน หรือแกงส้มก็ได้
เปลือกนอกของทางสาคู นำมาลอกเอาเฉพาะส่วนเปลือกทำเป็นตอกใช้สานเสื่อ หรือนำทางสาคูแห้งมากั้นทำคอกเป็ด ไก่ ทางสาคูแต่ละอันยาวประมาณ 3-4 เมตร เลยส่วนกาบขึ้นไปจะกลมและเรียวไปหาปลายทาง ถ้าตัดปลายทิ้ง ให้เหลือยาวประมาณ 1-2 เมตร นำมาลอกเอาส่วนเปลือกนอกซึ่งเรียกว่า หน้าสาคูทำเป็นตอก ใช้สาน เสื่อ กระบุง กระด้ง รวมทั้งทำเครื่องมือประมง ทางสาคูเมื่อนำมาตากให้แห้งสามารถใช้ทำคอกเป็ด ไก่ ได้ ซึ่งจะมีอายุการใช้งานได้ประมาณ 1-2 ปี หรือทำรั้วกั้นสวนผัก นำมาตกแต่งโรงร้าน ทางสาคูมีไส้ในอ่อนนุ่มแต่เหนียวสามารถนำมาทำจุกขวด หรือปิดปากกระบอกข้าวหลาม หรือนำมาใช้แทนโฟมก็ได้
น้ำเลี้ยงของทางสาคู เป็นกาวปิดกระดาษ เป็นยาพื้นบ้านรักษาเริม ทาใบหน้าให้ขาวนวล หรือรักษาสิว ฝ้า รากแขนง เป็นยาพื้นบ้านรักษาอาการปวดหัว ผลสุก จะมีรสหวานและฝาด เป็นยาพื้นบ้านช่วยลดความดันโลหิตสูง และบรรเทาอาการโรคเบาหวาน
นับเป็นพืชท้องถิ่นของไทยมีคุณมากมายหลายประการ หากแต่ในบางครั้งอาจจะมีการลืมเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ ตอนนี้ต้นสาคูน่าจะก้าวเข้ามาเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ได้ไม่น้อยทีเดียว เพราะสาคูสามารถขยายพันธุ์ เพื่อการนำมาขยายพื้นที่ปลูกสำหรับใช้ประโยชน์ตามที่ต้องการได้ค่อนข้างรวดเร็วนั่นเอง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 13 มิถุนายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=166910&NewsType=1&Template=1