ทุ่ม 7,000 ล้านบาทส่งเสริม ปลูกปาล์มน้ำมัน 23 จังหวัดผลิตพลังงานทดแทน
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 51
ทุ่ม 7,000 ล้านบาทส่งเสริม ปลูกปาล์มน้ำมัน 23 จังหวัดผลิตพลังงานทดแทน
จากกระแสด้านพลังงานกรณีของน้ำมันที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังผลให้หลาย ๆ ประเทศหันมาพิจารณาการผลิตพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าประเทศที่ มีโอกาสและแนวโน้มว่าจะไปได้ดีนั้นก็จะเป็นประเทศที่มีพื้นที่ที่สามารถเพาะปลูกพืชพลังงานทดแทนได้ หนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทย
ล่าสุดสำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายในการส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อนำ ผลผลิตมาผลิตพลังงานทดแทน ปีละ 500,000 ไร่ จำนวน 5 ปี รวม 2,500,000 ไร่ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายในพื้นที่ภาคใต้เกือบทั้งหมด ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงไป ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ตั้งแต่ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และภาคอีสานที่จังหวัดหนองคาย รวมแล้วทั้งหมด 23 จังหวัดซึ่งจังหวัดเหล่านี้ได้มีการศึกษาแล้วว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมและสามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้
สำหรับกรมส่งเสริมสหกรณ์มีสมาชิกสหกรณ์ ที่ประสงค์จะปลูกปาล์มน้ำมันประมาณ 100,000 ไร่ จากกว่า 30 สหกรณ์ ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ อีกส่วนเป็นการปลูกทดแทนปาล์มน้ำมันที่มีอายุเกิน 20 ปีขึ้นไป อีก 40,000 ไร่ส่วนใหญ่จะอยู่ในนิคมสหกรณ์ อ่าวลึก จังหวัดกระบี่ นิคมสหกรณ์ท่าแซะ นิคมสหกรณ์หลังสวน จังหวัดชุมพร
มีพื้นที่ 140,000 ไร่ แยกเป็น ปลูกใหม่ 100,000 ไร่ ปลูกทดแทนต้นเดิม 40,000 ไร่ สำหรับการผลิต ต้นกล้าปาล์มน้ำมัน กระทรวง เกษตรและสหกรณ์มีนโยบายให้เอกชนผลิตต้นกล้า โดยมีกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับรอง เกษตรกรที่จะปลูกก็สามารถไปหาซื้อได้ตามแหล่งผลิตของเอกชนที่กรมวิชาการฯรับรอง และเกษตรกรที่จะปลูกต้องไปขึ้นทะเบียนกับเกษตรจังหวัด เพื่อรับความรู้เรื่องการปลูกปาล์มที่ถูกต้องตามขั้นตอน ตรงนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจะเป็นผู้ดูแลทั้งนี้เพื่อจะได้รู้ว่าในแต่ละจังหวัดนั้นมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเท่าไหร่
ด้านนายเลอพงษ์ มุกสิกะมาน ผู้อำนวยการสำนักจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงในเรื่องเงินทุนที่จะสนับสนุนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ว่า ทาง ธ.ก.ส. จะเป็นแหล่งเงินทุนให้เพราะ ธ.ก.ส. ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน เอามาฝากไว้ 3,500 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. บริหารจัดการในเรื่องนี้ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้กำหนดวงเงินไว้ 7,000 ล้านบาท กระทรวงพลังงานเอามาฝาก 3,500 ล้านบาท แล้ว ธ.ก.ส. ก็เอาเงินของ ธ.ก.ส. มาอีก 3,500 ล้านบาท หมายความว่ามีวงเงินให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ กู้จะมีสูงถึง 7,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 โดยทาง ธ.ก.ส. จะให้เกษตรกรเป็นผู้กู้เป็นรายบุคคล
ในส่วนของสหกรณ์นั้นจะเป็นแหล่งทางด้านปัจจัยการผลิต เช่น จัดหาปุ๋ย มาจำหน่ายให้สมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการฯ และเป็นแหล่งรวบรวมผลิตผล โดยจะกู้เงินจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ สำหรับสหกรณ์ในเขตนิคมสหกรณ์ ก็จะมีรายได้ของนิคมสหกรณ์อีกต่างหาก ซึ่งสมาชิกสหกรณ์ในเขตนิคมฯ จะสามารถกู้ได้ ดอกเบี้ยร้อยละเท่าไหร่นั้นจะขึ้นอยู่กับชั้นของสหกรณ์แต่ละสหกรณ์ คือ สหกรณ์ชั้นดี มีวินัยการเงินดี ดอกเบี้ยก็จะถูกจะอยู่ที่ 1% 2% 3% ไล่ขึ้นไป สูงสุดตอนนี้อยู่ที่ 4%
ก็นับเป็นความคืบหน้าในงานจากส่วนงานที่เกี่ยวข้อง กับการเพาะปลูกพืชพลังงานทดแทน ที่หลาย ๆ ฝ่ายยอมรับกันว่า ประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้เป็นอย่างมากสำหรับเรื่องนี้ อันจะเป็นผลดีในปัจจัยพื้นฐานด้านการผลิตของประเทศโดยภาครวมนั่นเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 13 มิถุนายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=166912&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น