หน้าแรก > ข่าวเกษตรประจำวัน
อนุรักษ์ตาลโตนดให้อยู่กับประเทศไทยตลอดไป
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 51
อนุรักษ์ตาลโตนดให้อยู่กับประเทศไทยตลอดไป
"ตาลโตนด” จัดเป็นพืชท้องถิ่นของไทยอีกชนิดหนึ่งที่มีปลูกกระจายอยู่ทั่วประเทศโดยเฉพาะที่ จ.เพชรบุรี ในอดีตเกษตรกรจะทำนาและปลูกต้นตาลโตนดบนคันนาหรือปลูกบนพื้นที่ว่างเปล่า แต่ปัจจุบันต้นตาลโตนดในบ้านเราลดจำนวนลงอย่างน่าใจหายและจัดเป็นพืชที่ไม่มีการพัฒนาทางด้าน วิชาการ อาจจะเป็นเพราะตาลโตนดปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลรักษามากนัก ขณะนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้ คุณนรินทร์ พูลเพิ่ม ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 2 จ.พิษณุโลก ได้รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับตาลโตนด ทั้งด้านสายพันธุ์ การปลูกและการดูแลรักษา รวมถึงการใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของตาลโตนด เพื่ออนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญหายและหาแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีการขยายพื้นที่ปลูกกันมากยิ่งขึ้น หลายคนยังไม่ทราบว่า “ตาลโตนด” จัดเป็นพืชสารพัดประโยชน์อีกพืชหนึ่ง ทุกส่วนของตาลโตนด ได้แก่ ลำต้น ทางตาล ใบตาล ช่อดอก ผลตาล เมล็ด รากและน้ำตาลโตนด นำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอาหาร สรรพคุณทางยา ด้านงานหัตถกรรม ฯลฯ
คุณนรินทร์ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับตาลโตนดเพิ่มเติมว่า เป็นพืชเขตร้อนที่เจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด ตาลโตนดทนได้ทั้งสภาพแห้งแล้งและสภาพน้ำท่วมขัง เป็นพืชที่มีรากลึกมาก จึงไม่ค่อยพบว่าต้นตาลโตนดถูกพายุพัดจนถอนรากถอนโคน ที่สำคัญรากของตาลโตนดไม่แผ่ออกด้านข้าง จึงเป็นที่สังเกตได้ว่าตาลโตนดที่ขึ้นอยู่ในนาข้าวหรือคันนาไม่ทำให้ผลผลิตของข้าวลดลง ตาลโตนดจัดเป็นพืชวงศ์ปาล์มเช่นเดียวกับมะพร้าวที่มีลำต้นแข็งแรง ทนทานและมีอายุยืนได้ถึง 80 ปี
ปัจจุบันได้มีความคืบหน้าทางด้านการคัดเลือกสายพันธุ์ต้นตาลโตนดที่มีลักษณะดีเด่นเพื่อการขยายพันธุ์และแพร่พันธุ์ต่อไป คุณนรินทร์ได้คัดเลือกสายพันธุ์ตาลโตนด ไว้ได้แล้ว 1 สายพันธุ์และตั้งชื่อว่า “นคร สวรรค์ 80” โดยตั้งชื่อตามจังหวัดที่ค้นพบคือ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ลักษณะดีเด่นของตาลโตนดต้นนี้คือ ต้นค่อนข้างเตี้ย เจริญเติบโตช้า ให้ผลดก ผลค่อนข้างใหญ่ ให้ลอนตาลสดที่มีขนาดใหญ่กว่าต้นอื่น รสชาติดี เฉาะลอนตาลสดได้ง่าย นวดปลีตาลเพื่อผลิตน้ำตาลได้ง่าย ให้ปริมาณน้ำตาลสดมากวันละ 20-25 ลิตรต่อต้นต่อวัน คุณนรินทร์จึงได้มีข้อแนะนำไปยังสำนักวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ควรจะนำสายพันธุ์ตาลโตนดต้นนี้ไปขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อกระจายพันธุ์ให้เกษตรกรได้ปลูกต่อไปในอนาคตและหมดปัญหาเรื่องต้นตาลตัวผู้
โดยทั่วไปตาลโตนดมีต้นตัวผู้และ ต้นตัวเมียแยกอยู่คนละต้น ต้นตัวเมียจะใช้ประโยชน์จากทุก ๆ ส่วนของต้นได้มากกว่า ต้นตัวผู้ ใช้ระยะเวลาในการปลูกประมาณ 10-12 ปี จึงจะเริ่มให้ผลผลิต
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 มิถุนายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=167158&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น