เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 51
SPS : Sanitary and Phrto sanitary...อนามัยและสุขอนามัยพืช มักจะถูกประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรและอาหารของเรา อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฯลฯ หยิบยกเอามาเป็นเงื่อนไขกีดกันทางการค้า...
ทั้งนี้ เนื่องจากไทยเรายังไม่สามารถ กำจัดแมลงศัตรูพืชที่สำคัญให้หมดสิ้นไป โดยเฉพาะ แมลงวันผลไม้ (Oriental fruit fly) นับว่าเป็นตัวปัญหาที่ยังวนเวียนอยู่กับการผลิตพืช... จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าพืชผักและผลไม้ไทยหลายชนิด
บางประเทศถึงขั้นไม่อนุญาตให้ นำเข้าผลไม้จากไทย และ ในบางประเทศที่ยินยอมก็มีการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข ต่างๆ อย่างเช่น การอบไอน้ำ การฉายรังสี ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพ คือ รสชาติอาจเปลี่ยนไป
หรืออายุการเก็บรักษาอาจสั้นลง อันเป็นปัจจัยที่สร้างผลเสียในเชิงเศรษฐกิจต่อผลไม้ ไทย อาทิ มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ ส้มโอ เงาะ ลองกอง กล้วยไข่ ฝรั่งและพริก ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ มอบหมายให้ กรมส่งเสริมการเกษตร กับกรมวิชาการเกษตร เร่งขับเคลื่อน โครงการเขตควบคุมแมลงวันผลไม้เพื่อการส่งออก ในรูปแบบของคณะกรรมการบริหารจัดการฯ โดยมี ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน
นายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร บอกว่า...ในปีนี้ (2551) ได้ ดำเนินการควบคุมแมลงวันผลไม้ในพื้นที่ปลูกไม้ผลเพื่อการส่งออก 23 จังหวัดครอบคลุมพื้นที่กว่า 4.6 แสนไร่ คือ... พิจิตร พิษณุโลก ราชบุรี ลำพูน อุทัยธานี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ แพร่ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครราชสีมา อุดรธานี ชัยภูมิ สกลนคร เลย ระยอง จันทบุรี ตราด และชลบุรี
วิธีการในการควบคุมพยายามใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก...
จึงบูรณาการขับเคลื่อนเป็นโครงการวิจัยแนวทางการวางกับดัก เพื่อการสำรวจ ติดตามและเฝ้าระวังแมลงวันผลไม้ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เข้ามาสนับสนุนด้านการประเมินสถานการณ์ อันจะสามารถนำไปใช้ในการวางแผนควบคุมศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ...
...และช่วยประกันความเสี่ยง ในการผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง
โดยใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 18 เดือน เก็บข้อมูลแมลงวันผลไม้ 2 ชนิด คือ แมลงวันทอง (Batrocera dorsalis) กับ แมลงวันฝรั่ง (Bactrocera correcta) รวมถึง แมลงวันผลไม้สปีชีส์ (species) อื่นๆ ที่ตอบสนองต่อสารล่อเมทธิวยูจินอล
...หลังสิ้นสุดการศึกษาราวๆเดือนกันยายน 2552 ก็จะ นำข้อมูลมาวิเคราะห์แล้วใช้ กำหนดมาตรฐานการใช้กับดักแบบไตเนอร์สำรวจแมลงวันผลไม้ ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเป็นการยกระดับการดำเนินงานของไทยให้ ทัดเทียมสากล
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้บอกในช่วงที่ออกไปตรวจงานว่า “....... การวางกับดักสำรวจ ติดตามและเฝ้าระวังแมลงวันผลไม้มีความสำคัญต่อการผลิตผลไม้ส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ฉายรังสี โดย...กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ระบุเงื่อนไขว่า ในสวนผลไม้ที่จะส่งออกต้องมีการวางกับดัก และมีมาตรการควบคุมแมลงวันผลไม้ให้อยู่ในระดับต่ำ...”
ในขณะเดียวกัน อนุสัญญาอารักขาพืชระหว่างประเทศ (IPPC) ได้ประกาศมาตรฐานระหว่างประเทศด้าน มาตรการสุขอนามัยพืช (ISPMs)
แนวทางการวางกับดัก การติดตามและเฝ้าระวังแมลงวันผลไม้ จะเป็นวิธีหนึ่งที่จะต้องให้ประเทศสมาชิกนำไปปฏิบัติในช่วงระยะเวลาอันใกล้
การที่เราดำเนินการศึกษาและใช้นำร่อง เป็น แนวบูรณาการสุขอนามัยพืชของไทยที่เดินมาถูกทางแล้ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 18 มิถุนายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=93875