'ทำหมันแมลง' ควบคุมแมลงวันผลไม้
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 51
'ทำหมันแมลง' ควบคุมแมลงวันผลไม้
ขณะนี้ แมลงศัตรูพืช หลายชนิดได้ปรับตัวแข่งกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณสูงขึ้น ทำให้กระทรวงเกษตรฯ มีแผนบริหารจัดการศัตรูพืชแนวใหม่ คือ ใช้ ยุทธศาสตร์เชิงรุก ควบคุมแมลงศัตรูพืชแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการบูรณาการเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สภาพชุมชนเกษตร รวมทั้งเป้าหมายในการผลิต ทั้งนี้ภายใต้หลักการที่ต้องเป็นวิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพสูง
เทคนิคการใช้แมลงเป็นหมัน สามารถควบคุมศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเฉพาะเจาะจงต่อศัตรูตัวที่ต้องการควบคุมโดยเฉพาะ มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นการใช้ยุทธศาสตร์ใหม่แบบ “เชิงรุก” โดยการควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของแมลงศัตรูพืช
นายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงเทคนิคการใช้แมลงเป็นหมัน (SIT) เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืชว่า วิธี SIT นี้ เน้นการควบคุมที่มีผลกระทบเฉพาะการแพร่ขยายพันธุ์ของแมลงศัตรูพืช อาศัยหลัก “การคุมกำเนิด” แมลงวันผลไม้ทุกตัวทั้งตัวผู้และตัวเมียจะผ่านการฉายรังสี ทำให้สเปิร์มหรือเชื้อเพศผู้ถูกทำลาย (ตาย) ไข่และรังไข่ของตัวเมียก็ถูกทำลายหมด เมื่อนำแมลงเป็นหมันไปปล่อยและเกิดการผสมพันธุ์กับแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติ ไข่จะไม่ฟักเป็นตัวหนอน หากมีการปล่อยแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ประชากรแมลงวันผลไม้ลดจำนวนลงได้
ปัจจุบัน SIT ได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ซึ่งใช้ SIT ควบคุมศัตรูพืชจนประสบความสำเร็จอย่างสูงในการพัฒนาการเกษตรเพื่อการส่งออก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อิสราเอล จอร์แดน ซีเรีย เม็กซิโก กัวเตมาลา อาร์เจนตินา ชิลี โมร็อกโก ตูนิเซีย คอสตาริกา ฟิลิปปินส์ อียิปต์ บราซิล แอฟริกาใต้ และสเปน เป็นต้น โดยเฉพาะประเทศในทวีปอเมริกาใต้ และแอฟริกาได้มีการดำเนินการเพื่อขยายขอบเขตการควบคุมแมลงวันผลไม้ด้วย SIT ให้เป็นโครงการระดับภูมิภาคแล้ว
ส่วนประเทศไทยได้นำเทคนิค SIT มาใช้ควบคุมแมลงวันผลไม้เมื่อปี 2534 โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เริ่มนำ SIT จากผลการวิจัยของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติมาใช้ในการส่งเสริมการเกษตร จากนั้นในปี 2546 ได้ปรับเปลี่ยนการจัดระบบการดำเนินการเป็นการบริหารจัดการแบบครอบคลุมพื้นที่ (AW-IPM) ที่เกษตรกรในท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน ภายใต้ความร่วมมือด้านวิชาการจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) แห่งองค์การสหประชาชาติ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้นำร่องควบคุมแมลงวันผลไม้ด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับพื้นที่และช่วงเวลา เช่น การทำความสะอาดสวน การตัดพืชอาศัย การใช้สารล่อ เหยื่อพิษ เป็นต้น ร่วมกับการใช้แมลงวันผลไม้ที่เป็นหมัน โดยได้คัดเลือกพื้นที่ปลูกไม้ผลเพื่อการส่งออก 2 จุด คือ พื้นที่จังหวัดพิจิตร และราชบุรี ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 42,500 ไร่
ปี 2550-51 กรมส่งเสริมการเกษตรมีแผนผลิตขยาย และส่งเสริมการใช้แมลงวันผลไม้ที่เป็นหมัน ทั้งแมลงวันทอง และ แมลงวันฝรั่ง ไม่น้อยกว่า 2,180 ล้านตัว โดยได้รับงบประมาณทั้งจากกรมส่งเสริมการเกษตรและจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ซึ่งในกระบวนการผลิตแมลงเป็นหมันต้องผ่านการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ทั้งในห้องปฏิบัติการและภาคสนาม เพื่อรับรองว่าแมลงวันผลไม้ทุกตัวที่ปล่อยเป็นหมัน 100 % และมีความสามารถในการไปแย่งผสมพันธุ์กับแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติ เพื่อลดจำนวนประชากรแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติลง ดังนั้น แมลงเป็นหมันจึงเป็นแมลงที่มีประโยชน์ สามารถช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืชได้โดยที่เกษตรกรไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีหรือใช้น้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลง นอกจากนี้ได้พร้อมจัดระบบการดำเนินงานเขตควบคุมแมลงวันผลไม้ในพื้นที่ปลูกไม้ผลเพื่อการส่งออก จำนวน 23 จังหวัด รวมเนื้อที่กว่า 468,400 ไร่ และคาดว่าเกษตรกรจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีไม่น้อยกว่า 35,000 รายด้วย
นับเป็นทางออกที่น่าสนใจสำหรับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยตัดปัญหาสารพิษตกค้างปนเปื้อนในสินค้าเกษตรส่งออก ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า ทั้งยังช่วยลดปริมาณการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศได้อีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 18 มิถุนายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=167375&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น