บทบาทใหม่ 'ส.ป.ก.' ยืนบนพื้นฐานความต้องการเกษตรกร
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 51
บทบาทใหม่ 'ส.ป.ก.' ยืนบนพื้นฐานความต้องการเกษตรกร
เป็นที่สังเกตว่าระยะ 2-3 ปีหลังนี้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ปรับบทบาทการดำเนินงานรูปแบบใหม่ จากเดิมที่เน้นการจัดสรรที่ดินให้กับผู้ไร้ที่ทำกินและคนยากจน แต่ปัจจุบัน ส.ป.ก.มุ่งพัฒนาในเชิงรุกและเข้าถึงเกษตรกรมากขึ้น โดยมุ่งเพิ่มพูนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทักษะ พร้อมส่งเสริมการประกอบอาชีพอย่างบูรณาการตามความต้องการของเกษตรกร เน้นการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งจะเกิดการคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าที่ทำกิน อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้ดีขึ้น
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) บอกว่า ขณะนี้ ส.ป.ก.ได้จัดที่ดินให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ด้านการเกษตรแล้วทั้งสิ้น 1,714,498 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 27,907,883 ไร่ ใน 69 จังหวัด 694 อำเภอ 3,268 ตำบล และในปี 2551 ได้มีแผนเร่งจัดที่ดินทำกินให้ผู้ไร้ที่ทำกินเพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านไร่ รองรับเกษตรกร 100,000 ราย นอกจากนี้ยังคาดว่าจะได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ ช่วยจัดหาที่ดินสาธารณประโยชน์ ประมาณ 300,000 ไร่ พื้นที่จากการกำหนดเขตตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ ประมาณ 550,000 ไร่ พื้นที่จากการตรวจสอบแนวเขตทับซ้อน 500,000 ไร่ และพื้นที่จากการจัดซื้อตามความต้องการของชุมชน เพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกรรายใหม่เข้าทำประโยชน์
ขณะเดียวกัน ส.ป.ก.ยังจะเร่งจัดที่ดินชุมชนใน 600 ชุมชน รองรับเกษตรกรประมาณ 78,000 ราย พร้อมจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน 500 ตำบล รวมกว่า 8 ล้านไร่ด้วย โดยจะร่วมกับ อบต.พัฒนาต่อยอดภายใต้นโยบาย “อยู่ดีมีสุข” อีกทั้งยังมีแผนส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในเขตปฏิรูปที่ดิน ไม่น้อยกว่า 6,000 ไร่ ใน 200 ตำบล 200 หมู่บ้าน
นอกจากนั้นยังจะจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดิน” เพิ่มเติมอีก 800 แห่ง โดยจะคัดเลือกเกษตรกรผู้นำเพื่อเป็นต้นแบบจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯระดับหมู่บ้าน เพื่อช่วยถ่ายทอดและขยายผลองค์ความรู้ไปสู่สมาชิกเป้าหมายกว่า 80,500 ราย พร้อมจัดตั้งนิคมเศรษฐกิจพอเพียง 30 แห่ง รวมพื้นที่ 90,000 ไร่ ขณะเดียวกันยังจะเร่งออกหน่วยศูนย์บริการประชาชนเคลื่อนที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 800 ตำบล และจะประสานความร่วมมือกับปราชญ์เกษตรเพื่อร่วมสร้างชุมชน จำนวน 25 ชุมชน สมาชิกกว่า 500 ราย
ปีนี้ ส.ป.ก.ได้ขยายผลการส่งเสริมเพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกร และสร้างมูลค่าที่ทำกิน เป้าหมายไม่น้อยกว่า 300,000 ราย โดยจะพัฒนาระบบการผลิตของเกษตรกรให้ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับวิถีชีวิตและเป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรด้วยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เน้นให้เกษตรกรมีแนวคิดเชิงบวกและยอมรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมเปิดโอกาสเลือกอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้
อีกทั้งยังจะขยายผลการสร้างความร่วมมือไตรภาคีการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรในรูปแบบคอนแทรก ฟาร์มมิ่ง (Contract farming) เป้าหมาย 200 ตำบลทั่วประเทศ และตั้งเป้าพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรในโครงการไม่น้อยกว่า 5,420 ราย พร้อมส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันเกษตรกรเพื่อดำเนินธุรกิจซึ่งอาจอยู่ในรูปวิสาหกิจชุมชน เป้าหมาย 800 ตำบล สมาชิก 16,000 ราย ในเบื้องต้นจะสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งทุนโดยกองทุนปฏิรูปที่ดินได้เตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ อัตราร้อยละ 1 ต่อปี ไว้ให้เกษตรกรสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกู้ยืมไปลงทุน วงเงินกว่า 1,220 ล้านบาท
ส.ป.ก.ยังมีแผนที่จะดำเนินโครงการสานฝันยุวเกษตรกรในโรงเรียนขยายโอกาสเขตปฏิรูปที่ดินอีกกว่า 1,000 โรงเรียน เพื่อสร้างยุวเกษตรกรกว่า 50,000 คน และมีโรงเรียนต้นแบบการพัฒนาระดับจังหวัดไม่น้อยกว่า 53 โรงเรียน พร้อมเร่งขยายผลโครงการบ่มเพาะเกษตรกรอนาคตในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาและสร้างโอกาสให้ผู้สำเร็จการศึกษาด้านเกษตรได้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และเป็นเกษตรกรอย่างมืออาชีพ ซึ่ง ส.ป.ก.ได้เตรียม จัดสรรที่ดินให้เกษตรรุ่นใหม่กว่า 10,000 ไร่ และยังจะดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 7 โครงการด้วย
กรอบแผนงานดังกล่าวนี้ถือเป็นงานที่ท้าทายอย่างยิ่ง แต่ในที่สุดผลประโยชน์ก็ตกอยู่ในมือของเกษตรกร ซึ่งน่าจะช่วยแก้ปัญหาความยากจน กระจายความเจริญสู่ชนบท และลดช่องว่างรายได้ อันจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างยั่งยืน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 14 มกราคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=51426&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น