เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 51
เพราะอย่าว่าแต่เกษตรกรเลยที่ไม่เข้าใจ บางครั้งนักวิชาการด้วยกันก็ยังเข้าใจคลาดเคลื่อน คิดว่าเป็นเรื่องเดิมๆ ที่เคยทำกันมาแล้ว และเอามาปัดฝุ่นตีปี๊บกันใหม่
ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่ามีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก ผมได้หารือกับ ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทำเรื่องนี้มาโดยตลอด และได้ข้อมูลที่ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งน่าจะนำมาถ่ายทอดให้ทุกคนได้เข้าใจตรงกันและหันมาใช้วิธีการแบบนี้กันมากขึ้น เพื่อการลดต้นทุน แต่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยให้มากขึ้น
การใช้ปุ๋ยเคมีแบบ "สั่งตัด" คือ การใช้ปุ๋ยเคมีตามชุดดินและค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งพัฒนาโดยนำข้อมูลดิน พืช การจัดการดิน รวมทั้งผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์มาคำนวณในคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรมจำลองการปลูกพืชที่สลับซับซ้อน แต่ทำให้ง่ายสำหรับเกษตรกรนำไปใช้ ฟังดูแล้วเหมือนยาก เพราะว่าหลายคนดูถูกว่าเกษตรกรคงทำเรื่องยากๆ อย่างนี้ไม่ได้ แต่ความจริงแล้ว หากใครใช้คอมพิวเตอร์เป็น ก็จะง่ายในการหาคำแนะนำ แต่หากใครใช้ไม่เป็น ทางนักวิจัยก็ได้ทำตารางสรุปให้เบ็ดเสร็จ เพียงแค่ทำตามคู่มือแล้วจำแนกดินให้ออกว่า ดินของตนเป็นดินชุดอะไร แล้ววิเคราะห์ดินเองโดยใช้เครื่องมืออย่างง่าย เมื่อได้ค่าเหล่านี้มาแล้ว ก็มาเทียบกับตารางสำเร็จรูปว่าควรใช้ปุ๋ยอะไรอย่างละเท่าใด ซึ่งตอนนี้เกษตรกรที่ได้รับการอบรมไปก็ใช้วิธีการอย่างนี้เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ยากเย็นอะไรอย่างที่บรรดานักวิชาการหลายคนเข้าใจ
สรุปคือ คำแนะนำปุ๋ยแบบ "สั่งตัด" จะแตกต่างกันในดินแต่ละชนิด เช่น คำแนะนำปุ๋ยข้าวในชุดดินอยุธยา และชุดดินมโนรมย์ ไม่เท่ากัน ถึงแม้ว่าปริมาณ "เอ็น พี เค" ที่วิเคราะห์ได้ในดินเท่ากัน อีกกรณีหนึ่งคือ แม้เป็นดินชุดเดียวกัน แต่หากปริมาณเอ็น พี เค ที่วิเคราะห์ได้ไม่เท่ากัน การใช้ปุ๋ยก็จะแตกต่างกัน อย่างเช่น ข้าวโพด คำแนะนำปุ๋ย "สั่งตัด" ของชุดดินปากช่อง จ.นครราชสีมา แตกต่างจากคำแนะนำปุ๋ยของชุดดินปากช่อง จ.ลพบุรี เป็นต้น
ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน แต่ว่ามีความแตกต่างจากแนวคิดเรื่องปุ๋ยสั่งตัด คือ คำแนะนำดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงสมบัติทางเคมี และกายภาพของดินแต่ละชนิดซึ่งมีศักยภาพ (พลัง) ในการผลิตที่ไม่เท่ากัน เป็นคำแนะนำปุ๋ยที่เหมือนกันในดินทุกชนิด ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้จำแนกดินในประเทศไทยไว้แล้วว่ามีมากกว่า 200 ชนิด ดังนั้นคำแนะนำปุ๋ยสูตรเดียว ปริมาณเดียว จึงไม่เหมาะสมต่อชนิดดินที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าจะพูดตรงๆ ก็คือ วิธีการให้คำแนะนำแบบเดิมยังเป็นคำแนะนำปุ๋ยที่ไม่มีประสิทธิภาพ
นอกจากจะพูดถึงเรื่องของการใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ เรื่องของการใช้อินทรียวัตถุช่วยในการปรับปรุงดิน ชาวนาควรปรับปรุงดินโดยใช้อินทรียวัตถุต่างๆ เท่าที่หาได้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทางแรกที่ทำได้เลยโดยไม่ต้องซื้อหา คือ การไม่เผาฟาง ซึ่งเป็นทางหนึ่งในการเพิ่มอินทรียวัตถุที่ดีมาก อย่าลืมว่า มนุษย์เราถ้ามีสุขภาพดีก็ไม่จำเป็นต้องกินวิตามิน หรืออาหารเสริม พืชก็เช่นเดียวกัน เมื่อปลูกให้มีสุขภาพดีก็ไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมน หรือสารอื่นๆ
อย่าให้ผืนดินที่ดีและมีค่าของเราเป็นที่ทิ้งขยะโดยเสียเงินเอาสารต่างๆ มาใส่ลงไป โดยไม่ได้ประโยชน์ เพราะความ "ไม่รู้" หรือเพราะ "เชื่อคำโฆษณา" มากเกินไปครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 23 มิถุนายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/06/23/x_agi_b001_208225.php?news_id=208225