เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 51
พลังงานปิโตรเลียม...เริ่มร่อยหลอและจะหมดไปจากโลกสีฟ้าใบนี้ ราคาเลยพุ่งทะยานสูงขึ้นโดยไม่มีแนวโน้มจะลดลง แต่อย่างใด นักวิทยาศาสตร์จึงหันมาศึกษาหาพลังงานทดแทน ทั้งจากธรรมชาติ และ พืช อย่างเช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯ ซึ่งเรียกกันว่า พลังงานบนดิน
หรือแม้กระทั่งพืชที่มีดอกสวยงามเช่น ทานตะวัน และ แก่นตะวัน ก็ถูกนำไป ศึกษาวิจัย ในทางเศรษฐศาสตร์ว่าประโยชน์ คุ้มกับต้นทุนหรือไม่ เมื่อต้อง แย่งอาหารมนุษย์และสัตว์มาใช้เป็นพลังงาน ในอนาคต
ข้าวฟ่างหวาน ปัจจุบันถือว่าเป็นพลังงานและ พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่สำคัญ เพราะใช้ ประโยชน์จากน้ำที่คั้นจากลำต้น ซึ่งมีความหวานเช่นเดียวกับอ้อย ทั้งยังสามารถใช้เมล็ดเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย
พืชชนิดนี้มีชื่อสามัญ Sweet sorghum ชื่อวิทยาศาสตร์ Sorghum bicolor (L.)Moench ลักษณะโดยทั่วไปมีลำต้นค่อนข้าง สูงใหญ่ ช่อดอกหลวม มีเมล็ดแต่ไม่ มากนัก กาบหุ้มเมล็ดยึดติดแน่นกับเมล็ดทำให้การกะเทาะออกมาค่อนข้างยากกว่าข้าวฟ่าง
เกษตรกรหลายประเทศพากันตื่นตัวในการปลูกข้าวฟ่างหวาน โดยนำ มาผลิตเป็นอาหารจำพวก น้ำเชื่อม น้ำตาล ฯลฯ และแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ และเอทานอล แล้วกากที่เหลือทิ้งใช้ทำอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำพวกอาหารสัตว์ได้ด้วย
รศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) พร้อมทีมงาน ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนา พันธุ์ข้าวฟ่างหวาน เพื่อวิเคราะห์ในความ เหมาะสมว่าเป็นพืชอาหารหรือพืชพลังงาน อันจะเป็นแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ในศาสตร์กสิกรรม ที่จะนำไปสู่อาชีพของเกษตรกร ต่อไปในอนาคต
ข้าวฟ่างหวานที่นำมาวิจัยและทดลอง ด้วยการนำเมล็ดพันธุ์จากประเทศสหรัฐอเมริกา คือ สายพันธุ์เคลเลอร์ (Keller) โดยปลูกในแปลงทดลอง 3 แห่งด้วยกันคือ ณ หมวดพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับที่ แปลง ทดลองของศูนย์ วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ (มก.) อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และพื้นที่ไร่ของเกษตรกร ตำบลจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี รวมทั้งหมด 9 แปลงแปลงละ 1 ไร่
จากการทดลองพบว่า ข้าวฟ่างหวาน สามารถเจริญเติบโตได้ในดินเกือบทุกชนิด ตั้งแต่ดินทรายไปถึงดินเหนียว ที่เหมาะสมที่สุด ควรเป็นดินที่มีการระบายน้ำได้ดี มีความเป็น กรด-ด่าง (ph) อยู่ระหว่าง 5.0-7.5 อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต อยู่ระหว่าง 25-35 องศาเซลเซียส ต้องการน้ำตลอดฤดูกาลประมาณ 320-500 มม.
อายุในระหว่าง 90 ถึง 100 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ทีมงานวิจัยของ มข. ทำการปลูกทดสอบ และพัฒนา พันธุ์อย่างต่อเนื่องอยู่หลายปี กระทั่งสายพันธุ์นิ่ง จึงได้ตั้งชื่อว่า ...ข้าวฟ่างหวาน มข.40 ข้าว ฟ่างหวาน มข.40...สามารถนำต้นไปผลิตเป็นเอทานอลได้ 350-420 ลิตรต่อไร่ ส่วนกากของมันก็นำไปหมักเป็นอาหารสัตว์ได้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งคาดว่าสามารถให้ผลประโยชน์มีความคุ้มค่า ในส่วนของการนำมาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน
ตอนนี้ผลงานวิจัยได้ข้อมูลที่สมบูรณ์แล้ว มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สมาคมสื่อมวลชน เกษตรแห่งประเทศไทย จึงจัดสัมมนา พืชพลังงาน กับพืชอาหาร เพื่อเป็นทางเลือก.. ณ ห้องประชุมสายสุรีย์ ชุติกุล คณะศึกษาศาสตร์ มข. วันที่ 9 กรกฎาคม ตั้งแต่ 09.00 ถึง 16.30 น.
กิจกรรมนี้ ดร.อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธาน พร้อมปาฐกถาพิเศษในเรื่องของพืชอาหารพืชพลังงาน และมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านมาร่วมให้ความรู้เป็น วิทยาทาน คือ ฟรีตลอดรายการ ทั้งฟัง ทั้งเอกสารประกอบและอาหารกลางวัน
หากสนใจ จองที่นั่งล่วงหน้าได้ที่ รศ. ดร.ประสิทธิ ใจศิล 0-4320-2360, 08-9416 -5911 โทรสาร 0-4320-2361 เวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 23 มิถุนายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=94453