เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 51
ภาควิชาจุลชีววิทยาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประสบความสำเร็จสกัดข้างแดงจากเชื้อราโมแนสคัสมาเป็นส่วนผสมของอาหารไก่เพื่อเพิ่มผลิตไข่ ทำให้มีคุณภาพสูง ที่สำคัญยังสามารถลดคอลเลสเตอรอล เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่มีปัญหาสุขภาพ
ซึ่งไข่แดงที่มีสีเข้มนั้นส่วนใหญ่มาจาการการเสริมสีสังเคราะห์ลงในอาหารนั่นก็คือ คาโรฟิลล์เพื่อปรับปรุงสีผลผลิตให้ดีขึ้น
ที่จริงสารสีสังเคราะห์ที่ว่านี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงเป็นเหตุให้ต้นทุนการผลิตสูง โดยไม่ได้มีคุณค่าทางอาหารแต่อย่างใด การใช้บางครั้งมีข้อจำกัด ส่วนสารสีที่สกัดจากดอกดาวเรืองหรือกลีบดอกดาวเรืองแห้งมีสารแซนโทรฟิลในปริมาณสูง ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องปริมาณการใช้ แต่มีข้อจำกัดในเรื่องต้นทุนที่สูง
จากสาเหตุดังกล่าวศ.ดร.บุษบายงสมิทธ์ อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้คัดเลือกสายพันธุ์เชื้อราข้าวแดงที่สามารถหมักจากอาหารเหลวสูตรง่าย ๆ ที่ประกอบด้วย แป้งมันสำปะหลังและแป้งถั่วเหลืองให้ได้สารสีแดง สามารถนำมาเพาะเลี้ยงแบบหมักแข็งบนเมล็ดข้าวได้โดยตรง และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายใน 2 - 3 สัปดาห์เพื่อเพิ่มคุณค่าวัตถุดิบทางการเกษตรของไทยให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ใหม่และสารธรรมชาติอื่น ๆ ที่เสริมสุขภาพ มีตลาดรองรับทั้งด้านอาหารและทางเภสัชกรรมได้ (nutraceuticals หรือ functional foods)
จากนั้นนำเชื้อราข้าวแดงที่เตรียมได้จากห้องปฏิบัติการมาทดสอบในอาหารไก่ไข่ที่ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร เพื่อหาระดับที่เหมาะสมในแง่การเพิ่มสีไข่แดง เพิ่มผลผลิตไข่ คุณภาพไข่ การลดคอเลสเตอรอลในไข่แดงและซีรัม ตลอดจนความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ
โดยใช้ไก่ไข่เพศเมียพันธุ์ทางการค้าที่กำลังให้ผลผลิตไข่จำนวน360 ตัว แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ๆ ละ 4 ซ้ำ ๆ ละ 15 ตัว แต่ละกลุ่มได้รับอาหารทดลอง ดังนี้ กลุ่มที่ 1 สูตรควบคุม (ไม่มีการเสริมสารสีทางการค้า และข้าวแดงลงในอาหาร) กลุ่มที่ 2 สูตรอาหารควบคุมเสริมสารสีทางการค้า กลุ่มที่ 3, 4, 5 และ 6 สูตรอาหารควบคุมเสริมข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัส 0.25, 0.50, 1.25 และ 2.50% ในอาหาร ตามลำดับ
ศ.ดร.บุษบา ยงสมิทธ์ เผยว่าจากการทดลองเป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า ไก่ไข่กลุ่มที่ได้รับการเสริมข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัส 2.5% จะให้ไข่แดงที่มีสีเข้มที่สุด (พัดสีเบอร์ 12.30) เมื่อเทียบกับไก่ไข่กลุ่มอื่น ๆ นอกจากนี้ การเสริมข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัสในอาหารยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ในซีรัมของแม่ไก่ รวมทั้งในไข่แดงและหากเสริมในอาหารไก่ไข่ตั้งแต่ 0.5% ขึ้นไป จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในไข่แดงลงได้กว่า 20% ขึ้นไป และอาจลดลงได้ถึง 40% หากเสริมในอาหาร 2.5%
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับที่เสริมลงในอาหารงานวิจัยในไก่ไข่นี้กำลังอยู่ในระหว่างทดสอบเพื่อหาระดับที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิตเป็นเกณฑ์รวมทั้งหาวิธีการขยายการหมักที่มุ่งการประหยัดพลังงานและต้นทุนต่อไป จะเห็นได้ว่าข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัสสายพันธุ์ที่นักวิจัย ได้ทำการคัดเลือกไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มสีของไข่แดงแต่ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในซีรัมในแม่ไก่และในไข่แดงของไข่ไก่อีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 24 มิถุนายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/06/24/x_agi_b001_208314.php?news_id=208314