เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 51
ณ อาคารผลิต ขยายและทำหมันแมลงวันผลไม้ คลองหก อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีรังสี สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ที่แห่งนี้เป็นโรงเพาะเลี้ยงที่สามารถผลิต ขยายและทำหมันแมลงวันผลไม้โดยใช้เทคโนโลยีการฉายรังสี ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศแห่งองค์การสหประชาชาติ ดำเนินการผลิตแมลงวันผลไม้เป็นหมัน 2 ชนิดที่สำคัญ คือ ชนิด Bactrocera dorsalis หรือแมลงวันผลไม้ภาคพื้นตะวันออก และ ชนิด Bactrocera correcta แมลงวันผลไม้ฝรั่ง มีกำลังการผลิตรวม 40 ล้านตัวต่อสัปดาห์ เพื่อใช้ควบคุมแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติในพื้นที่ โครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน ของกระทรวงเกษตรฯ
นายโอฬาร พิทักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่าแมลงที่ผ่านกระบวนการแล้วจะเป็นหมัน 100% สำหรับการฉายรังสี ตัวผู้สเปิร์มจะถูกทำลาย ตัวเมียจะไม่มีไข่ ส่วนแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติ เมื่อผสมพันธุ์กับแมลงเป็นหมันแล้วไข่จะไม่ฟักเป็นตัวหนอน ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรไม่ถูกทำลาย อย่างไรก็ดีตัวเมียที่เป็นหมันไม่มีไข่แต่ยังมีสัญชาตญาณในการวางไข่ที่ทำให้เป็นรอยจุดเล็ก ๆ ที่ผิวผลไม้ได้ ตรงนี้ต้องให้ความรู้และทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้ดี มิฉะนั้นจะเกิดการเข้าใจผิดกันได้ง่ายมาก และเกษตรกรต้องตัดสินใจถึงผลประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดขึ้น การปล่อยแมลงเป็นหมันนี้หากทำอย่างต่อเนื่องในระยะยาวจะช่วยควบคุมและลดประชากรแมลงวันผลไม้ที่เป็นศัตรูพืชได้โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนต่ำลง
ทั้งนี้ การใช้แมลงที่เป็นหมันควบคุมแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติจะได้ผลดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควรผสมผสานร่วมกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้โปรตีนเหยื่อพิษ การใช้สารล่อ และการใช้แมลงตัวเบียน เป็นต้น และสิ่งที่เกษตรกรสามารถปฏิบัติได้เองอย่างง่าย ๆ และมีประโยชน์ช่วยลดจำนวนแมลงวันผลไม้ศัตรูพืช คือ เก็บผลไม้ที่ร่วงหล่นอยู่ในสวนไปทำลาย เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จะเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์แมลงวันผลไม้ได้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม หากละเลยไม่ใส่ใจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้การแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างและรวดเร็วยิ่งขึ้น ผลผลิตจะถูกทำลายและสูญเสียมาก ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องให้ความสำคัญกับการเก็บผลไม้ร่วงหล่น
นายโอฬาร กล่าวอีกว่า จากการที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้นำเทคโนโลยีการใช้แมลงเป็นหมันมาใช้ผสมผสานกับวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสม เพื่อควบคุมแมลงวันผลไม้ในพื้นที่ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออก นำร่องในจังหวัดราชบุรี จำนวน 22,500 ไร่ ซึ่งเดิมพื้นที่ดังกล่าวถูกแมลงวันผลไม้เข้าทำลายผลผลิตเสียหายถึง 82% ภายหลังปล่อยแมลงวันเป็นหมันในพื้นที่แล้ว พบว่าความเสียหายลดลงมาที่ระดับ 3.6% นอกจากนี้ยังได้ปล่อยแมลงวันผลไม้เป็นหมันในพื้นที่ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออกของจังหวัดพิจิตร 23,000 ไร่ หลังดำเนินการ 3 ปี พบว่า สามารถลดความเสียหายลงจาก 43% เหลือไม่เกิน 10% ช่วยให้เกษตรกรทั้งสองพื้นที่ได้ผลผลิตมะม่วงที่มีคุณภาพ สามารถส่งออก ไปต่างประเทศได้ ทั้งตลาดญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ แคนาดา และประเทศในยุโรป เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปี 2551 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีแผนเร่งปล่อยแมลงเป็นหมันเพื่อควบคุมแมลงวันผลไม้ในแหล่งปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออกเพิ่มเติม ครอบคลุมพื้นที่รอยต่อจังหวัดพิจิตร-พิษณุโลก ไม่น้อยกว่า 33,000 ไร่ ซึ่งหากดำเนินการต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3 ปี คาดว่าจะสามารถลดการใช้สารเคมีกำจัดแมลงวันผลไม้ได้กว่า 50% ขณะเดียวกันยังลดประชากรแมลงวันผลไม้ในพื้นที่โครงการได้ไม่น้อยกว่า 50% ด้วย นอกจาก 3 จังหวัดที่กล่าวแล้ว ยังมีจังหวัดที่มีศักยภาพในการส่งออกผลไม้อีก 20 จังหวัด ที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้วางพื้นฐาน ในการให้ความรู้ระบบการควบคุมแมลงวันผลไม้ให้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรเพื่อเตรียมการในอนาคตต่อไป.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 มิถุนายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=167968&NewsType=1&Template=1