เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 51
จากสภาพปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และสภาพดินที่เสื่อมลง เป็นข้อจำกัดที่ทำให้เกษตรกรต้องคิดหาวิธีการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง ลดการใช้สารเคมีและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น ดังตัวอย่างกรณีเกษตรกรที่ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว ได้พัฒนาวิธีการปลูกข้าว โดยอาศัยตอซังเดิม จนประสบความสำเร็จ สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านเมล็ดพันธุ์ การเตรียมดิน และลดการใช้สารเคมีควบคุมวัชพืชลงได้มาก ขณะเดียวกันสามารถเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน
การปลูกข้าวตอซังควรเป็นพื้นที่ที่มีตอซังสม่ำเสมอ สามารถควบคุมระดับน้ำได้ เขตทำนาพื้นที่ชลประทานมีความเหมาะสม เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการปลูกครั้งแรกควรเป็นพันธุ์ไม่ไวแสง อายุ 115-120 วัน เช่น ปทุมธานี 1 สุพรรณบุรี 1 เป็นต้น นำมาปลูกครั้งแรกก่อนทำข้าวตอซัง ควรมีความบริสุทธิ์ คือไม่มีพันธุ์ข้าวอื่นเจือปน และในแปลงนาจะต้องกำจัดข้าวเรื้อออกให้หมด
ต้องเก็บเกี่ยวข้าวในระยะพลับพลึง คือเมล็ดข้าวสีเหลือง 80% ของรวงตอซังสด โดยระบายน้ำออกให้มีความชื้นพอเหมาะในวันเก็บเกี่ยว ความชื้นดินในวันเก็บเกี่ยวสัมผัสได้ด้วยมือโดยการหยิบขึ้นมาปั้นเป็นลูกกลม ๆ ได้ การเกี่ยวให้เกี่ยวตอซังให้ยาวที่สุด เวลาย่ำตอซังควรให้ราบเรียบกว่าไว้ตอสั้น
การย่ำตอซัง และฟางที่ใช้คลุมต้องให้ราบเรียบไม่มีตอซังกระดก แปลงนาต้องสม่ำเสมอ ต้นข้าวที่ปลูกครั้งแรกด้วยเมล็ดต้องแข็งแรงปราศจากโรคแมลง เก็บเกี่ยวข้าวในระยะพลับพลึง โดยระบายน้ำออกจากแปลงนาให้ดินมีความชื้นเหมาะสม หลังเก็บเกี่ยว กระจายฟางคลุมตอซังทั่วแปลงนา ทำการย่ำตอซัง และฟางที่คลุมให้ราบเรียบ อย่าให้ตอซังกระดกขึ้น เนื่องจากหน่อข้าวจะงอกบริเวณข้อที่ 2-3 หรือปลายตอซัง ฉะนั้นจึงควรย่ำในช่วงเช้ามืด ดินมีความชื้น ตอซังและฟางนิ่ม ย่ำง่าย โดยใช้ลูกทุบ ที่ภาษาท้องถิ่นบางแห่งเรียกว่าอีขลุบ ใช้ล้อเหล็กของรถไถเดินตาม หรือล้อขนาดเท่ากันมัดติดกัน 5 ล้อ ลากย่ำไปทั่วบริเวณท้องนา
หลังย่ำตอซังตรวจสอบว่าฟางที่คลุม จุดใดหนาให้เอาออก คลุมบาง ๆ ปล่อยทิ้งไว้รอจนกว่าหน่อข้าวที่เกิดจากกอข้าวงอกเจริญ มี 2-3 ใบ ช่วงนี้จะใช้เวลาประมาณ 15 วัน นับจากวันย่ำฟาง จากนั้นจึงสูบน้ำเข้าแปลงนา พอพื้นที่แฉะ
หลังระบายน้ำเข้า 1 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 และปุ๋ยยูเรีย อัตรา 15-20 กก.ต่อไร่ เพื่อเร่งการเจริญเติบโต และเร่งขบวนการย่อยสลายของตอซังและฟาง จากนั้นรักษาน้ำในแปลงนาไม่ให้รั่ว เพื่อไม่ให้ปุ๋ยที่ใส่สูญหายไปกับสายน้ำ
หลังใส่ปุ๋ยครั้งแรกประมาณ 10-12 วัน ให้ระบายน้ำออก เพื่อลดปัญหาการเกิดก๊าซซึ่งจะทำให้ใบเป็นสีส้ม ในระยะที่ฟางย่อยสลาย ปล่อยให้ดินแห้งประมาณ 3-4 วัน ต้นข้าวจะมีรากงอกออกมา จึงสูบน้ำเข้าแปลงนาในระดับปูคลาน คือที่ 5 ซม. ใส่ ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 30 กก.ต่อไร่ หรือใช้ปุ๋ยสูตร 18-12-6 หรือ 16-1-28 อัตรา 35 กก.ต่อไร่ ในกรณีปลูกข้าวติดต่อกันไม่มีเวลาหยุดพักเป็นเวลานานเพื่อชดเชยธาตุ P ที่ต้นข้าวใช้ไป
ขณะเดียวกันก็ใส่ปุ๋ยแต่งหน้า สูตร 46-0-0 อัตรา 7-10 กก.ต่อไร่ หลังใส่ปุ๋ยครั้งแรก 10-12 วัน หลังใส่ปุ๋ยแต่งหน้า ให้เพิ่มระดับน้ำในนาสูงประมาณ 10-12 ซม. ควบคุมระดับน้ำไว้จนกว่ารวงข้าวเริ่มก้ม เมล็ดปลายรวงเริ่มเหลือง จึงระบายน้ำออกจากแปลงนา เพื่อเตรียมการเก็บเกี่ยวต่อไป.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 มิถุนายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=168174&NewsType=1&Template=1