หน้าแรก > ข่าวเกษตรประจำวัน
ผลิตมะนาวตาฮิตินอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์ที่ อ.คีรีมาศ
เมื่อวันที่ 2 มกราคม 51
ผลิตมะนาวตาฮิตินอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์ที่ อ.คีรีมาศ
ปัจจุบันมีเกษตรกรที่มีเนื้อที่น้อยได้หันมาสนใจปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์กันมากขึ้น เนื่องจากเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนเร็วและสามารถใช้แรงงานในครัวเรือนได้ อย่างกรณีของ คุณพิชัย ลัยนันทน์ บ้านเลขที่ 243 หมู่ 2 ต.ทุ่งหลวง อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย มีประสบการณ์ในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์มานานถึง 8 ปี จะถือเป็นเกษตรกรต้นตำรับในการปลูกมะนาวในรูปแบบนี้ และได้มีการนำพันธุ์มะนาวหลากหลายสายพันธุ์มาทดลองปลูกในที่สุดก็เลือกปลูกพันธุ์ตาฮิติ (มะนาวไม่มีเมล็ด) ถึงแม้คนไทยจะไม่นิยมบริโภคเหมือนกับมะนาวพันธุ์แป้นรำไพแต่มะนาวตาฮิติในวงบ่อซีเมนต์แบบปลอดสารพิษผลิตเพื่อส่งขายยังตลาดต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน, สิงคโปร์ ฯลฯ
คุณพิชัยได้บอกถึงเหตุผลหลักที่เลือกปลูกมะนาวพันธุ์ตาฮิติเพราะทนทานต่อโรคแคงเคอร์, ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศได้ดี และจัดเป็นมะนาวที่มีขนาดผลใหญ่ ที่สำคัญขายผลผลิตมะนาวในช่วงนอกฤดูส่งออกได้เฉลี่ยผลละ 1.20-1.80 บาท คุณพิชัยได้พูดถึงการเริ่มต้นในการปลูกมะนาวตาฮิติในวงบ่อซีเมนต์ว่าจะต้องปรับพื้นที่ให้เรียบเหมือนกับลานตากข้าว การปลูกจะปลูกแบบแถวคู่ใช้ระยะระหว่างต้น 1.20 เมตร และระยะระหว่างแถว 1.50 เมตร เว้นทางเดินห่าง 2 เมตร (การปลูกแถวคู่จะสะดวกต่อการวางระบบน้ำ) สำหรับวงบ่อซีเมนต์ที่ใช้จะใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร แต่ฝาวงบ่อควรจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่าเล็กน้อย เช่น ใช้ฝาวงบ่อขนาด 90 เซนติเมตรเพื่อป้องกันรากต้นมะนาวโผล่ออกมาแล้วชอนลงดิน
ดินผสมที่ใช้ปลูกมะนาวตาฮิติในวง บ่อซีเมนต์เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่สำคัญของคุณพิชัยที่ใช้ หน้าดิน 3 ส่วน, ขี้วัว 1 ส่วน และ เปลือกถั่วเขียว 2 ส่วน ผสมให้เข้ากัน เปลือกถั่วเขียวจะช่วยให้ดินที่ปลูกหลวมมีการระบายน้ำที่ดี ในการนำดินลงในวงบ่อ เกษตรกรจะต้องเหยียบดินที่ใส่ตรงขอบบ่อให้แน่นส่วนตรงกลางไม่ต้องเหยียบ จะใส่ดินปลูกให้เต็มบ่อพูนแบบหลังเต่า หลังจากปลูกต้นมะนาวไปแล้ว 1 ปี ดินจะยุบลงมาเสมอกับขอบวงบ่อพอดี การปลูกขุดเปิดปากหลุมให้ใหญ่ขนาดเท่าถุงชำมะนาว ในการบังคับมะนาวตาฮิติให้ออกนอกฤดูคุณพิชัยจะใช้หลักการในช่วง “ฝนทิ้งช่วง” ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน (ช่วงนี้งดการให้น้ำอย่างเด็ดขาด) เมื่อฝนทิ้งช่วงนานประมาณ 10-15 วัน ฉีดกระตุ้นการออกดอก สำหรับปัญหาแมลงศัตรูสำคัญของการปลูกมะนาวคือ “หนอนชอนใบ” จะระบาดทำลายในช่วงแตกใบอ่อนและ “เพลี้ยไฟ” จะระบาดทำลายในช่วงใบอ่อน, ดอก และผลอ่อน แนะนำให้ฉีดพ่นสารโปรวาโด ซึ่งใช้ในอัตราต่ำมาก ใช้สารโปรวาโด อัตรา 1 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สำหรับป้องกันและกำจัดหนอนชอนใบสำหรับเพลี้ยไฟให้เพิ่มอัตราขึ้นเป็น 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เนื่องจากมะนาวตาฮิติของคุณพิชัยส่วนใหญ่ผลิตเพื่อการส่งออก ดังนั้นก่อนการเก็บเกี่ยว ผลผลิตจะต้องงดการฉีดพ่นสารเคมีทุกชนิดเปลี่ยนมาใช้สารชีวภาพไล่แมลงแทน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 มกราคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=150266&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น