เมื่อวันที่ 14 มกราคม 51
ไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ผลิต "กุ้ง" คุณภาพดีรายใหญ่ของโลกคือ กุ้งกุลาดำ และส่งออกทำรายได้เป็นแสนล้านในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว
เพราะว่าประมาณ 5 ปีที่แล้ว เราหันมาเลี้ยง "กุ้งขาว" แทนกุ้งกุลาดำซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเรา จนกระทั่งตอนนี้ตัวเลขสัดส่วนการเลี้ยงกุ้งขาวต่อกุ้งกุลาดำกลายเป็น 95 : 5 ไปแล้ว
จริงอยู่ถึงแม้ว่าเราเลี้ยงกุ้งขาวและส่งออกไปขายทำรายได้มหาศาลเช่นกัน แต่ยังต้องระวังปัญหาต่างๆ ที่ตามมา ซึ่งเรายังไม่ได้เตรียมพร้อมรองรับมาก่อนเลย เหมือนเช่นการที่กุ้งกุลาดำต้องถึงกาลอวสาน เป็นเพราะว่า เราโหมการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบชนิดที่เรียกว่า "ตักตวงให้หมด" ที่ตรงไหนเหมาะหรือไม่เหมาะก็พยายามเลี้ยงกันจนได้ ในขณะที่งานวิจัยเพื่อสร้างความรู้ที่จะรองรับปัญหาต่างๆ ยังตามไม่ทัน ผลที่สุด คือมาเจอทางตันแก้ปัญหาไม่ได้ และต้องหันมาเลี้ยงกุ้งขาวในที่สุด ซึ่งวงจรความล่มสลายก็คงจะไม่ต่างกัน ตราบใดที่การสร้างความรู้เพื่อรองรับการเลี้ยงกุ้ง ยังตามไม่ทันอย่างเช่นปัจจุบันนี้
จากการวิเคราะห์ปัญหาการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ พบว่าสาเหตุหลัก คือการขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ เพราะว่าจากเดิมต้องไปจับมาจากทะเลลึกตามธรรมชาติ ซึ่งนับวันจะหายากและขาดแคลนมากขึ้น เพราะว่าความต้องการมีสูง แต่ยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ กระทั่งเกิดปัญหาว่า ต้องนำเข้าพ่อแม่พันธุ์มาจากน่านน้ำต่างประเทศ ผลคือ ราคาสูงและได้โรคติดมาด้วย ทำให้พ่อแม่พันธุ์ไม่แข็งแรง มีการวางไข่น้อยและตายง่าย
นอกจากเรื่องการระบาดของ "โรคไวรัส" ที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในวงการเลี้ยงกุ้ง ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก ตายง่าย และกุ้งไม่โต ประกอบกับการที่ขยายพื้นที่การเลี้ยงออกไปทั่ว โดยไม่ดูความเหมาะสม ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและปัญหาการขัดแย้งต่างๆ มากมาย
เมื่อปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มาประกอบกันเข้า ผลคือการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมาถึงกาลล่มสลาย แต่ความที่กุ้งกุลาดำของเรามีเอกลักษณ์หลายอย่างที่น่าสนใจ เพราะว่าเป็นกุ้งคุณภาพสูง รสดี สีสวย และสามารถทำตลาดได้ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับพรีเมียม ดังนั้น ทาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. โดยมีศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติเป็นกำลังสำคัญ และให้ความสนใจการวิจัยเรื่องกุ้งมายาวนาน ในที่สุดก็มีการผลักดันให้จัดตั้ง คณะกรรมการบริหารคลัสเตอร์กุ้งประเทศไทย เพื่อวางยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกุ้งกุลาดำโดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาธุรกิจกุ้งกุลาดำให้ฟื้นคืนขึ้นมาใหม่
ในส่วนของแผนยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนากุ้ง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความรู้เพื่อพัฒนาการเลี้ยงกุ้ง โดยมุ่งเข้าสู่ยุคการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ แทนที่จะเป็นการขายแรงงานราคาถูกอย่างที่ผ่านมา ได้ดำเนินการโดย สวทช. และมีการจัดพิมพ์เป็นเอกสารความหนาเพียง 50 กว่าหน้า แต่ว่ามีสาระและรายละเอียดหลายเรื่องที่น่าสนใจ จึงอยากนำมาสรุปย่อถ่ายทอดให้คนไทยได้ทราบในวงกว้าง
หลักการดังกล่าวมีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ที่จะดำเนินงานในช่วง 3 ปีนี้ คือ การวิจัยและพัฒนากุ้งกุลาดำให้เป็นสัตว์เลี้ยงและปรับปรุงสายพันธุ์ให้มีลักษณะที่ตลาดต้องการ, การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และสุดท้าย คือ การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ระบบสืบย้อนกลับและคุณภาพผลิตภัณฑ์
งานวิจัยเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการพัฒนา "กุ้งกุลาดำ" อย่างยั่งยืนในอนาคต ถึงแม้วันนี้จะเพิ่งเริ่มต้น แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะดำเนินการโดยมีเป้าหมายที่จะพลิกฟื้นธุรกิจการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ โดยการใช้ความรู้แทนการใช้ทรัพยากรอย่างไม่รู้เหมือนอย่างที่ผ่านมา
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 14 มกราคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/01/14/b001_185389.php?news_id=185389