เด็กวิทยาลัยเกษตรฯสระแก้ว เจ๋ง ปลูก 'แคนตาลูปชีวภาพ' ไม่พอขาย
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 51
เด็กวิทยาลัยเกษตรฯสระแก้ว เจ๋ง ปลูก 'แคนตาลูปชีวภาพ' ไม่พอขาย
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้วเป็นหนึ่งใน 76 สถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่เข้าร่วม “โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่” ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กับ สำนักงานคณะ กรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยวิทยาลัยฯดังกล่าวได้เปิดหลักสูตร การเรียนการสอนครอบคลุมการผลิตพืช และสัตว์ มีทั้งหลักสูตรครบวงจร (ระยะยาว) หลักสูตรเฉพาะทาง (ระยะกลาง) และหลักสูตรสนองปัญหา (ระยะสั้น) มีหนึ่งหลักสูตรที่โดดเด่น น่าสนใจ คือ การปลูกแคนตาลูปแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งได้มีการสนับสนุนให้นักศึกษาปลูกแล้วได้ผลดี ผลิตได้ไม่ทันความต้องการของตลาด ทำให้นักศึกษามีรายได้ระหว่างเรียนด้วย
นายปิยะกฤต แก้ววิมล นักศึกษาแผนกวิชาพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว เล่าว่า วิทยาลัยฯได้ส่งเสริมให้ นักศึกษาปลูกแคนตาลูปแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ รวม 84 คน แบ่งเป็น 12 กลุ่ม ๆ ละ 7 คน สลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปลูกในพื้นที่ 4 ไร่ สำหรับแคนตาลูปที่ปลูกมี 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ซันเลดี้ และพันธุ์วีนัส ซึ่งเบื้องต้นต้องเตรียมแปลงปลูกโดยไถให้ลึก 30-40 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ 7-10 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วไถแปรให้ละเอียด ทำการใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักในแปลงปลูกคลุกเคล้าให้เข้ากัน ยกแปลงให้สูงประมาณ 30 เซนติเมตร พร้อมวางระบบน้ำหยดและคลุมพลาสติกลงบนแปลงปลูกด้วย
การปลูกกำหนดระยะห่างระหว่างแถว 1.2-1.5 เมตร ระหว่างต้น 40-50 เซนติเมตร พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกได้ถึง 2,500-3,000 ต้น โดยใช้ต้นกล้าอายุ 7-10 วัน เมื่ออายุ 20-25 วัน ต้นแคนตาลูปจะเริ่มเลื้อยขึ้นค้าง สมาชิกต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ มีการฉีดพ่นปุ๋ยน้ำ สารชีวภาพและสารไล่แมลงวันเว้นวันเพื่อป้องกันเพลี้ยไฟและไรแดง เมื่ออายุ 35-38 วัน แคนตาลูปจะติดผลโดยต้องไว้ผลจำนวน 1 ผล/ต้น ที่แขนง 9-12 และต้องเด็ดยอดแตงเเคนตาลูปทิ้งเมื่อ 40-45 วัน เพื่อลดการแย่งอาหาร เมื่ออายุ 60-75 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายได้ หนึ่งปีสามารถผลิตได้ 4 รุ่น
ก่อนเก็บผลผลิตส่งจำหน่าย 10-12 วัน ต้องใส่ปุ๋ยน้ำเพื่อเร่งความหวานให้กับแคนตาลูปผ่านระบบน้ำหยดทุก 2-3 วัน ปกติจะได้ผลผลิตประมาณ 2,500-3,000 กิโลกรัม/ไร่ มีต้นทุนเฉลี่ย 26,800 บาท/ไร่ หรือประมาณ 9 บาท/กิโลกรัม ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 20-25 บาท จะมีรายได้เฉลี่ย 37,500-45,000 บาท/ไร่ ขณะที่ปลูกโดยใช้สารเคมีจะมีต้นทุนถึง 35,300 บาท/ไร่ ตลาดรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 15 บาท
นายปิยะกฤต ยังบอกอีกว่า ถึงแม้การปลูกแคนตาลูปแบบใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีจะให้ผลผลิตสูง แต่ถ้ามองถึงเรื่องคุณภาพแล้วสู้การปลูกแบบเทคโนโลยีชีวภาพไม่ได้ เพราะผลผลิตจากแปลงที่ใช้สารชีวภาพจะไม่มีสารพิษตกค้างปนเปื้อน มีความปลอดภัย ทั้งยังมีกลิ่นหอมรสชาติหวานกรอบ หวานชื่นใจ ไม่หวานจนแสบคอ เป็นที่ถูกใจผู้บริโภคและตลาดต้องการสูง ซึ่งขณะนี้วิทยาลัยฯยังผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
“อนาคตสมาชิกได้มีแผนการผลิตเพื่อป้อนตลาดทั้งปี พร้อมทำการแปรรูปเป็นไอศกรีมแคนตาลูปเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย สำหรับการเข้าร่วมโครงการนี้ นอกจากจะช่วยให้มีรายได้ระหว่างเรียนและช่วยลดภาระของผู้ปกครองแล้ว ยังได้รับองค์ความรู้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้หลังจบการศึกษา” นายปิยะกฤต เล่าด้วยสีหน้าภูมิใจ
อย่างไรก็ตาม หากสนใจเกี่ยวกับ “การปลูกแคนตาลูปโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ” สามารถสอบถามได้ที่ แผนกวิชาพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว ต.ผ่านศึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โทรศัพท์ 0-3724-3484, 0-3724-3486
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 มิถุนายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=168542&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น