เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 51
หากสังเกตพบว่าขนาดตัวของปูที่ขายในท้องตลาดเล็กลงจนเหมือนลูกปูอีกด้วย แถมราคายังสูงลิบลิ่ว สาเหตุเพราะว่าปูเหล่านี้ถูกจับมากินโดยตรงจากทะเล และนับวันก็หาได้ยากขึ้นทุกที
มีข้อมูลว่าปูม้าที่จับได้จากอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันมีอัตราลดลงเฉลี่ยร้อยละ 8.8 ต่อปี จากที่เราเคยจับได้ 46,700 ตัน ในปี 2541 ได้ลดลงเหลือเพียง 27,900 ตัน ในปี 2548 ดังนั้นหากปล่อยไปอย่างนี้ อีกหน่อยเด็กไทยคงจะรู้จักปูม้าโดยดูจากรูปภาพเท่านั้น ตอนนี้อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ปูม้าของไทยก็ต้องนำเข้าเนื้อปูส่วนหนึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะว่าปูที่จับได้ในบ้านเราไม่เพียงพอแล้ว เนื่องจากว่าความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ปูม้าเพื่อการแปรรูปเป็นปูม้าแช่แข็งหรือผลิตภัณฑ์เนื้อปูแปรรูปต้องการปูม้าไม่ต่ำกว่าวันละ 80 ตัน
ปี 2548 ปูม้าที่จับได้ร้อยละ 71 ถูกส่งเข้าโรงงานเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตามยังโชคดีที่เราคงไม่อยู่ในสถานการณ์เลวร้ายถึงขั้นที่ปูม้าจะหมดไปจากประเทศไทย เพราะว่าตอนนี้เรามีนักวิชาการหลายหน่วยงานหลายกลุ่มช่วยกันสร้างความรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเพาะเลี้ยงปูม้า จนกระทั่งสามารถทำได้สำเร็จและขยายผลออกไปจนผลิตเป็นการค้าได้แล้ว หมายความว่าต่อไปเราสามารถเพาะเลี้ยงปูม้าโดยไม่ต้องพึ่งพาการจับมาจากธรรมชาติโดยตรงเหมือนแต่ก่อน
นอกเหนือจากกรมประมงที่มีการวิจัยเรื่องปูม้าไว้มากแล้ว ก็มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยเกี่ยวกับปูม้ามากกว่า 10 โครงการต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงทุกวันนี้ ปรากฏว่าความรู้ที่ได้จากงานวิจัยเหล่านี้ปรากฏเป็นรูปธรรมว่าชาวบ้านสามารถเลี้ยงปูม้าเป็นอาชีพได้ เพราะว่าความรู้ดังกล่าวประกอบด้วยหลายอย่างด้วยกันจนครบวงจร ตั้งแต่เรื่องของการเพาะพันธุ์ เทคโนโลยีด้านอาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงปู เทคโนโลยีการผลิตในบ่อดิน ไปจนถึงการผลิตหรือเลี้ยงในคอก และการบริหารจัดการคอกที่เหมาะสม รวมทั้งเกิดแนวคิดเรื่องธนาคารปู ซึ่งเคยได้เล่าไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้
ทั้งหมดนี้เป็นความรู้สู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง และตอนนี้ความรู้ดังกล่าวก็มีการรวบรวมมาอยู่ในหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “ถอดรหัสปูม้า” โดยมีคำอธิบายต่อสร้อยว่า “จากวิกฤตสู่ระบบการผลิตที่ยั่งยืนเพื่อความอยู่ดีมีสุขของชุมชนประมง บนฐานความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร” ที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์บริหารงานวิจัยของ ดร.บรรจง เทียนส่งรัศมี ซึ่งเป็นผู้ประสานงานวิจัยในชุดโครงการปูของ สกว. โดยได้วิเคราะห์ผลงานวิจัยโครงการต่างๆ ของชุดโครงการปูที่ สกว.สนับสนุนตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน และได้นำเอาความรู้ต่างๆ เหล่านี้ไปทดสอบแล้วในโครงการนำร่องที่ จ.ปัตตานี และ จ.ตรัง รวมทั้งมีการขยายผลไปยังชุมชนชาวประมงในพื้นที่ จ.กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี และ สตูล
ปัจจุบันระบบการผลิตปูม้าในบ่อดิน และเรื่องการเพิ่มประชากรปูในทะเลชายฝั่ง กลายเป็นที่รู้จักและยอมรับของชุมชนเหล่านี้แล้ว และนำไปสร้างรายได้และอาชีพเสริมให้แก่ครอบครัวจนเป็นที่พอใจกันถ้วนหน้า มีข้อสังเกตว่าความรู้ที่นำมารวบรวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ครอบคลุมหลายมิติ ทั้งทางด้านเทคโนโลยีการผลิตที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญต่อเรื่องของความยั่งยืนของทรัพยากร
ที่สำคัญที่สุดคือ ตัวคนและชุมชน รายละเอียดในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับเนื้อหาขององค์ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ผมจะได้นำมาเล่าแบบสรุปให้ฟังเป็นตอนๆ ในคราวต่อไปครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 30 มิถุนายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/06/30/x_agi_b001_209262.php?news_id=209262