เปิดยุทธศาสตร์บริหารจัดการศัตรูพืชแนวใหม่
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 51
เปิดยุทธศาสตร์บริหารจัดการศัตรูพืชแนวใหม่
ปัญหาแมลงศัตรูพืชเข้าทำลายผลผลิตในแหล่งปลูกพืชทั่วประเทศ ยังปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องทุกปี สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรได้มากพอสมควร แต่ที่ผ่านมาการควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูพืชของเกษตรกรมักเกิดขึ้นหลังจากมีการแพร่ระบาด และผลผลิตได้รับความเสียหายแล้ว โดยต่างคนต่างเร่งควบคุมดูแลแปลงปลูกพืชของตนเองให้รอดพ้นจากการคุกคาม เพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด ถือเป็นการตั้งรับคู่ต่อสู้ที่ค่อนข้างเสียเปรียบ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเมืองร้อน มีสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต และแพร่ขยายพันธุ์ของแมลงศัตรูพืชสำคัญนับร้อยชนิด
นายโอฬาร พิทักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของแมลงศัตรูพืชว่า ปีนี้การระบาดของแมลงศัตรูพืชในแหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจทั่วไป ทั้งพืชผัก พืชไร่ พืชสวน ไม้ผล และไม้ดอกไม้ประดับ ถือว่าอยู่ในระดับปกติ ที่สามารถควบคุมได้ ไม่มีการระบาดรุนแรงเกิดขึ้น แต่มีแมลงศัตรูพืชสำคัญบางชนิด อาทิ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ ไรแดง และแมลงวันผลไม้ ที่จำเป็นต้องเร่งบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เนื่องจากเป็นศัตรูพืชกักกันที่ประเทศผู้นำเข้าส่วนใหญ่ให้ความสนใจ หากตรวจพบติดไปกับผลผลิตที่ส่งออก สินค้าอาจถูกตีกลับและส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวมของประเทศได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำระบบการบริหารจัดการศัตรูพืชแนวใหม่ที่เป็นปฏิบัติการเชิงรุก ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) เน้นบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการบริหารศัตรูพืชแบบครอบคลุมพื้นที่โดยดึงเกษตรกร ชุมชน และองค์กรท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนซึ่งจะช่วยให้การควบคุมศัตรูพืชมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและยั่งยืนมากขึ้น
รองอธิบดี กล่าวอีกว่า เพื่อให้สอดรับกับ “โครงการบริหารจัดการศัตรูพืชเพื่อลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกร” ตามนโยบายปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ปี 2551-2552 ของรัฐบาล ที่ได้มีการแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เร่งรัดการยกร่าง “แผนแม่บทการบริหารจัดการศัตรูพืชแห่งชาติ” ขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในกระบวนการผลิตทางการเกษตร และช่วยพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้
เนื้อหาของแผนแม่บทฯ ดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดยกร่าง 5 ยุทธศาสตร์หลักเพื่อพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันให้กับสินค้าพืชผักและผลไม้ไทยในตลาดโลก ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างระบบประกันความเสี่ยงให้กับเกษตรกร ประกอบด้วย 1) เร่งส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและบริการเทคโนโลยีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช เพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมี พร้อมสร้างศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจ และส่งเสริมระบบเศรษฐกิจพอเพียง 2) พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการบริหารจัดการศัตรูพืชด้วยเทคโนโลยีที่ปลอดภัย และได้มาตรฐาน 3) การกำหนดระเบียบและมาตรฐานให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการศัตรูพืชซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตร 4) การเพิ่มโอกาสและศักยภาพในการนำเทคโนโลยีที่ปลอดภัยมาใช้ในการส่งเสริมการผลิต และการใช้ปัจจัยทางเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการศัตรูพืชและความมั่นคงด้านอาหาร 5) สร้างการยอมรับ ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้านวิจัยพัฒนาและบริหารจัดการศัตรูพืชที่จะเอื้ออำนวยต่อการขยายตลาดการส่งออกได้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ประเด็นยุทธศาสตร์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาในขั้นต่อไป
ถือเป็นอีกหนึ่งแผนบริหารจัดการกำจัดศัตรูพืชที่น่าสนใจ ในสไตล์ “กันไว้ดีกว่าแก้” ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง เชื่อว่าสามารถสกัดศัตรูพืชได้อยู่หมัดแน่ มาถึงตอนนี้เกษตรกรหลายรายคงได้คำตอบในใจแล้วว่า จะเป็นฝ่าย รุก หรือตั้งรับรอความสูญเสีย...ตัดสินใจเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 กรกฎาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=168660&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น