เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 51
“มันสำปะหลัง” แต่ก่อนคืออาหารของมนุษย์ สัตว์ แต่เมื่อนานาประเทศต่างประสบกับภาวะวิกฤติ ที่มีปัจจัยเหตุจากราคา “ปิโตรเลียม” ที่ผันผวนทำให้ปัจจุบัน เป้าหมายการปลูกต้องแปรเปลี่ยนมาใช้เป็น “พลังงาน ทดแทน”
และเพื่อไม่กระทบต่อแหล่งอาหารอย่างที่หลายคนวิตก สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ “วางหมาก” ไว้คือ เปลี่ยนระบบการจัดการ พร้อมสร้างสายพันธุ์ดี ผลผลิตสูง
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการ สปก.บอกว่า เพื่อเข้าสู่ขบวนการปรับโครง สร้างเพิ่มศักยภาพการผลิตมันสำปะหลัง ให้เกิดขึ้นพร้อมกัน ตามที่ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรฯ มอบนโยบาย สปก. ได้จัดทำ นิคมการเกษตร ขึ้น โดยเลือก ตำบลกุดโบสถ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งจะมีตามมาอีก 16 แห่งทั่วประเทศ
สำหรับแนวทาง จะเป็นแบบร่วมประสานคือ กรมวิชาการเกษตร รับ ผิดชอบสร้างศูนย์เพาะพันธุ์ กรมชลประทานจัดการดูแลแหล่งน้ำ กรมพัฒนาที่ดิน เข้ามาวิเคราะห์ปรับปรุงบำรุงดิน กรมส่งเสริมการเกษตร ทำหน้าที่ฝึกอบรมพาศึกษาดูงานและให้คำปรึกษาปัญหาโรคพืช กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดตั้งกลุ่มในรูปของสหกรณ์ สร้างความเข้มแข็งมีอำนาจต่อรอง
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ อบรมจัดทำบัญชี เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต กระทรวงฯ จะประสานกับภาคเอกชน ให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า ฉะนั้น การสร้างนิคมการเกษตร จึงเป็นเสมือน “ขอบฟ้าใหม่” ที่เปลี่ยนโครงสร้าง จากระบบเดิม มาทำเกษตรที่ครบวงจร มากขึ้น
ลุงอ่อนสี ไทยธานี เกษตรกรบ้านเลขที่ 216 หมู่ที่ 1 ตำบลสุขไพบูลย์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมีไร่ปลูกมันทั้งหมด 40 ไร่ ได้ผลผลิตไม่เกิน 4 ตัน/ไร่ ทาง สนง.เกษตรพาไปอบรมดูงานที่ จังหวัดอุบลราชธานี ชัยภูมิ ซึ่งคนแถวนั้นปลูก “มันคอนโด” สามารถเก็บหัวได้ไร่ละ 15-30 ตัน มาคิดว่าทำอย่างไรถึงเหมือนเขาบ้าง เลยเอาท่อนพันธุ์มาตัดให้ยาว 25 ซม. ฝานตา มัด 2 ท่อนรวมกัน
เอาส่วนปลายจุ่มปูนกินหมากประมาณ 10 นาที ด้านฝานตาแช่ในน้ำขี้หมูทิ้งไว้ 1 คืน ปลูกลงดินครึ่งหนึ่ง ผ่านไป 3 เดือน โกยดินออกสังเกตเห็นว่ามีหัวเล็กๆ งอกเพิ่มขึ้นที่รอยฝาน ถึงรู้ว่า มันคอนโด เป็นอย่างนี้เอง จากนั้นจึงเริ่มปรับปรุงบำรุงดิน ด้วยการหว่านถั่วพร้า ไถระเบิดดินดานกลบ ช่วงบ่ายตัดท่อนพันธุ์ทำตามขั้นตอนที่อบรม และนำไปปลูกช่วงเช้า ซึ่งทำให้แรงงานไม่ เปลืองลงทุนน้อย
ในวันนี้พื้นที่ปลูกจากจำนวน 2 ท่อน ขยายเพิ่มมากถึง 25 ไร่ ต้นมันจะงามมากกว่าระบบเดิมที่เคยใช้ ลุงอ่อนสี บอกว่า เพราะระเบิดดินดาน ปลูกปุ๋ยพืชสด ถั่วพร้า บำรุงดิน ซึ่งวิธีนี้เกษตรกรไม่ นิยมทำกันเพราะว่าต้องปลูกทิ้งไว้ 3 เดือน ทำให้ ขาดรายได้
แต่ที่ยังอยู่ได้ก็เพราะทำตามแนวทฤษฎีใหม่ ที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ในเรื่องการทำเกษตรแบบผสมผสานทั้งเลี้ยงปลา เลี้ยงหมู ปลูกข้าวโพดหวาน ทำหลายๆอย่าง ไม่คอยรายได้ ทางเดียว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 2 กรกฎาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=95521