เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 51
ไม่เพียงแต่อ้อย และมันสำปะหลังเท่านั้น ที่เป็นพืชพลังงานทดแทนที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอล ยังมีข้าวฟ่างหวาน เป็นพืชพลังงานที่มีศักยภาพสูงไม่แพ้กัน
เพราะจากผลการวิจัยพบว่า สามารถใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลได้ดีที่สุดและยังให้กำไรสูงที่สุด โดยต้นทุนรวมต่ำกว่า 17.50 บาทต่อลิตร
ในขณะที่อ้อย แม้จะมีความเป็นไปได้และคุ้มทุน แต่ก็ประสบปัญหาในทางกฎหมาย เพราะอ้อยเป็นพืชคุ้มครองตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ซึ่งกำหนดให้ใช้อ้อยไปผลิตน้ำตาลทรายเท่านั้น ดังนั้นถ้าจะใช้อ้อยไปผลิตเอทานอลจึงต้องแก้กฎหมายฉบับนี้ก่อน
รศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล รองคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยข้าวฟ่างหวานสำหรับใช้เป็นพลังงานทางเลือก ยอมรับว่า ในความเป็นจริงทุกส่วนของพืชสามารถนำมาผลิตเป็นเอทานอลได้ทั้งสิ้น แต่กระบวนการผลิตอาจแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับวัตถุดิบต้นกำเนิด
"ถ้าเป็นพืชที่มีน้ำตาลอยู่ภายในลำต้นมาก เช่น อ้อย และข้าวฟ่างหวาน ก็สามารถนำน้ำคั้นมาหมักด้วยยีสต์ ซึ่งจะได้เอทานอลโดยตรง แต่ถ้าเป็นพืชที่มีแป้งเป็นองค์ประกอบมาก จะต้องนำไปผ่านกระบวนการเปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาลก่อน แล้วจึงนำไปหมักต่อด้วยยีสต์เพื่อผลิตเอทานอลต่อไป"
หัวหน้าทีมวิจัยคนเดิมระบุอีกว่า จากการศึกษาในข้าวฟ่างหวานพันธุ์ มข.40 พบว่าฤดูปลูกที่เหมาะสมอยู่ในช่วงพฤษภาคม-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงปิดหีบของโรงงานน้ำตาล ดังนั้นถ้าสามารถผลักดันให้มีการปลูกข้าวฟ่างหวานสลับในไร่อ้อยที่รื้อตอรอปลูกอ้อยใหม่ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ที่ดินและช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบของโรงงานผลิตเอทานอลได้ด้วย
"อายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของข้าวฟ่างหวานพันธุ์ มข.40 คือ ระหว่าง 22-40 วัน หลังดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะมีอายุประมาณ 90-110 วัน เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวฟ่างหวานแล้ว แต่ไม่สามารถส่งโรงงานได้ทันภายใน 1 วัน จะส่งผลให้ค่าความหวานเพิ่มสูงขึ้นวันละประมาณ 1 บริกซ์ แต่ผลผลิตต้นสดจะลดลง 6 เปอร์เซ็นต์ ใน 24 ชั่วโมงแรก และลดลงประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์ เมื่อตัดทิ้งไว้นาน 2 วัน" รศ.ดร.ประสิทธิ์เผย
ขณะที่ รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ม.ขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันมันสำปะหลังมีราคาสูงขึ้นมาก จนบางช่วงสูงกว่า 2.50 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้โรงงานที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบประสบปัญหาขาดทุน ส่วนข้าวโพดนั้น ในปัจจุบันผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ในประเทศอยู่แล้ว จึงไม่ควรนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลอีก
"ที่จริงกากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลของไทย แต่ปัญหาต้องนำมาใช้ในอุตสาหกรรมสุรา ผงชูรส ซอส ซีอิ๊ว อาหารสัตว์ ฯลฯ หากนำมาผลิตเอทานอลอาจจะเกิดการขาดแคลนขึ้นได้ในอนาคต" รองอธิการบดีคนเดิมกล่าว
รศ.ดร.กิตติชัยกล่าวต่อว่า ข้าวฟ่างหวานเป็นวัตถุดิบที่มีศักยภาพสูงอีกชนิดหนึ่ง เพราะจากการประเมินเบื้องต้นพบว่ามีต้นทุนต่ำใกล้เคียงกับอ้อยและกากน้ำตาล ดังนั้นถ้าสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ก็จะเป็นพืชไร่ที่เป็นทางเลือกใหม่ของอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ผู้สนใจ "ข้าวฟ่างหวานพันธุ์ มข.40" ที่ทีมนักวิจัย ม.ขอนแก่นคิดค้นขึ้นมา เชิญร่วมฟังได้ในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง ”พืชพลังงานกับอนาคตเศรษฐกิจไทย” ซึ่งสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ม.ขอนแก่น จัดขึ้นในวันพุธที่ 9 กรกฎาคมนี้ สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่ง (ฟรี) ที่โทร.0-4320-2010-1 ในวันและเวลาราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 3 กรกฎาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/07/03/x_agi_b001_209763.php?news_id=209763