เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 51
หลายรายพยายามหาแนวทางปรับกลวิธีการเลี้ยง บนพื้นฐานไม่มุ่งเน้นการพึ่งพาสารเคมี ประหยัดพลังงาน ช่วยรักษาระบบนิเวศควบคู่ไปด้วย ได้กุ้งคุณภาพดีตรงตามความการของตลาด ที่สำคัญผลผลิตนั้นปลอดภัยต่อผู้บริโภค
"ท่องโลกเกษตร" สัปดาห์นี้มีโอกาสลงพื้นที่ดูฟาร์มกุ้ง 2 แห่ง เขต อ.นายายอาม และ อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ภายใต้โครงการ E3Agro ส่วนหนึ่งของโครงการร่วมไทย-เยอรมัน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจ (2549-2551) ระหว่างกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กรมประมง และสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (German Technical Cooperation-GTZ)
ดังนั้นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันประเภทอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง จึงมีเป้าหมายมุ่งเน้นเรื่องมาตรการการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานใน 4 กลุ่ม คือ การปรับปรุงวิธีการบริหารจัดการพลังงานและการจัดการฟาร์ม การใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน การเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานใหม่ และลดการเพาะเลี้ยงกุ้งแบบความหนาแน่นต่อหน่วยพื้นที่สูง
"ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากราคากุ้งที่รับซื้อลดลง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงประสบปัญหาความยากลำบากที่จะประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ ส่งผลให้กิจการเพาะเลี้ยงกุ้งจำต้องปรับตัว เน้นประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มุ่งลดการใช้พลังงาน ลดใช้สารเคมี เหล่านี้เกษตรกรต้องอาศัยความรู้และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต" พิจารณา สมัครการ ผู้จัดการโครงการ E3Agro อธิบายถึงความร่วมมือของทั้ง 3 องค์กรในการปรับกลวิธีการเลี้ยงกุ้งให้ได้ประโยชน์สูงสุดทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ขณะพาดูเหรียญทองฟาร์ม ที่ ต.ช้างข้าม อ.นายายอาม ฟาร์มนำร่องของโครงการ
บนพื้นที่ 30 ไร่เศษ ซึ่งเป็นอาณาบริเวณของเหรียญทองฟาร์มนั้น วิชัย กรีมนตรี เจ้าของฟาร์มหนุ่มใหญ่วัย 45 ปี บอกว่า เลี้ยงกุ้งทั้งหมด 5 บ่อ เมื่อก่อนเลี้ยงกุ้งกุลาดำ แต่ประสบปัญหามากมายโดยเฉพาะราคาตกต่ำ จึงหันมาเลี้ยงกุ้งขาวแทน เพราะมองด้านตลาดว่าขายง่าย การลงทุนน้อยกว่า บวกกับได้เข้าร่วมกับโครงการ จึงทำให้มีความมั่นใจที่จะยึดอาชีพนี้ต่อไปหลังเกิดภาวะท้อถอยอยู่พักหนึ่ง
"ง่ายๆ เลยอย่างที่ฟาร์มซึ่งเลี้ยงทั้งหมด 5 บ่อ เมื่อก่อนจะต้องจ่ายค่าไฟสำหรับปั่นมอเตอร์เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่ลูกกุ้งต่อวัน วันละไม่ต่ำกว่า 300 บาท เดือนๆ หนึ่งก็จะใช้จ่ายเงิน 9,000-1 หมื่นบาท แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการ สามารถช่วยลดต้นทุนตรงนี้เหลือเพียงจ่ายวันละไม่เกิน 150 บาท ทำให้เราเซฟค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ถึงเดือนละเกือบ 5,000 บาท" วิชัยแจง
ทว่าการช่วยประหยัดค่าไฟซึ่งถือเป็นต้นทุนของการเลี้ยงแต่ละวันนั้น เจ้าของเหรียญทองฟาร์มยอมรับว่า นั่นยังไม่รวมถึงภาพใหญ่ที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดลอง ทั้งเรื่องการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การเปลี่ยนมาใช้แหล่งพลังงานใหม่ และการลดการเพาะเลี้ยงกุ้งแบบความหนาแน่นต่อหน่วยพื้นที่สูง
"แต่ละบ่อซึ่งใช้พื้นที่ราว 6 ไร่ เมื่อก่อนจะใช้ลูกกุ้ง 7.5 แสนตัว ตัวละ 80 สตางค์ ความหนาแน่นสูงมาก เป็นปัญหาต่อการเจริญเติบโตพอควร อาหารก็ต้องให้มาก ขณะที่ผลผลิตกุ้งแต่ละตัวน้ำหนักไม่คงที่ แต่หลังลดจำนวนการใส่ลูกกุ้งลงตามคำแนะนำ เหลือราว 4.5 แสนตัว ถึงขณะนี้อัตราการรอดรวมถึงการเจริญเติบโตอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ที่แน่นอนกว่าคือน้ำหนักของตัวกุ้งที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและคงที่"
เช่นเดียวกับฟาร์มกุ้งกุลาดำอินทรีย์แห่งแรกของไทย อย่าง "สุรีรัตน์ฟาร์ม" ตั้งอยู่ที่ 105 หมู่ 13 ต.ปากน้ำแหลมสิงห์ อ.แหลมสิงห์ บนเนื้อที่ 1,400 ไร่ มีบ่อเลี้ยงถึง 133 บ่อ ประยูร หงส์รัตน์ เจ้าของเกษตรกรผู้เลี้ยงซึ่งคร่ำหวอดในวงการกุ้งกุลาดำ ยอมรับว่า แม้ธุรกิจการเลี้ยงกุ้งของครอบครัวจะเป็นภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ผลผลิตกุ้งมีตลาดยุโรปรองรับปีละหลายพันตัน ยึดวิธีการเลี้ยงด้วยระบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี รักษาสภาพแวดล้อมเป็นหลักอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้มองข้ามเรื่องการช่วยชาติประหยัดพลังงาน จึงเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
"เป็นผลดีของฟาร์มเรา เพราะการประหยัดพลังงานไม่ว่าจะเป็นส่วนใดๆ ก็ตาม นั่นหมายถึงช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ อย่างที่ฟาร์มแม้จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่มากมายในแต่ละเดือน แต่ระยะยาวหากเราปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องเชื่อว่าจะได้ประโยชน์มากทีเดียว และจะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น" เจ้าของสุรีรัตน์ฟาร์มกล่าว หลังเข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ปี 2549
การปรับวิธีเลี้ยงกุ้งโดยความร่วมมือของทั้ง 3 องค์กร นับเป็นอีกตัวอย่างที่เกษตรกรผู้กำลังเผชิญวิกฤติปัญหาทั้งเรื่องราคา พลังงาน ควรนำไปเป็นกรณีศึกษา
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 7 กรกฎาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/07/07/x_agi_b001_210087.php?news_id=210087