หนีภัยแล้ง 'ทำนาหญ้า' ป้อนตลาดโคขุน สร้างรายได้
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 51
หนีภัยแล้ง 'ทำนาหญ้า' ป้อนตลาดโคขุน สร้างรายได้
วิสาหกิจชุมชนนาหญ้า ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เป็นหนึ่งใน 69 วิสาหกิจชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้คัดเลือกให้เป็นวิสาหกิจชุมชนดีเด่นในเขตปฏิรูปที่ดินปี 2551 สมาชิกกลุ่มนี้ได้รวมตัวกันอย่างเข้มแข็งในการดำเนินกิจกรรมนาหญ้าเพื่อผลิตเสบียงสัตว์ควบคู่ไปกับการผลิตโคพันธุ์ดีและเลี้ยงโคขุนป้อนตลาด นับว่าเป็นอาชีพทางเลือกที่สามารถทำรายได้ดีอีกทางหนึ่ง
นายจำเริญ คนขะยัน ประธานวิสาหกิจชุมชนนาหญ้า ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี บอกว่า เดิมสมาชิกมีอาชีพทำไร่ข้าวโพดและมันสำปะหลัง เป็นหลัก แต่ระยะ 2-3 ปีหลังนี้ พื้นที่ ต.วังยาวประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงและเกิดภัยแล้งซ้ำซาก ทำให้ผลผลิตเสียหาย จึงคิดหาอาชีพใหม่ที่ไม่ต้องใช้น้ำมาก เห็นว่าการทำนาหญ้าน่าจะไปได้ดี จึงรวมกลุ่มเพื่อนเกษตรกรไปศึกษาเรียนรู้และฝึกอบรมเกี่ยวกับการทำนาหญ้าเพื่อผลิตเสบียงสัตว์ที่สถานีพัฒนาอาหารสัตว์สุพรรณบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ชัยนาท ขณะเดียวกันยังได้เรียนรู้เทคนิคเกี่ยวกับการเลี้ยงโคเนื้อและโคขุนที่สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์สุพรรณบุรีด้วย
จากนั้นได้ปรับพื้นที่ปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลังหันมาทำนาหญ้าแทน และเมื่อเดือนกันยายน 2549 ได้จดทะเบียนจัดตั้ง เป็นวิสาหกิจชุมชนนาหญ้า มุ่งส่งเสริมให้สมาชิกปลูกหญ้าแพงโกล่าเพื่อผลิตเสบียงสัตว์ป้อนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือในพื้นที่ ปัจจุบันมีสมาชิก 54 ราย รวมพื้นที่กว่า 200 ไร่ ขณะเดียวกันยังสนับสนุนให้สมาชิกเลี้ยงโคเนื้อและโคขุนควบคู่ไปด้วยเพื่อเสริมรายได้
การทำนาหญ้ามีความเสี่ยงน้อยกว่าการปลูกข้าวโพด ถ้าเกิดฝนทิ้งช่วงหญ้าแพงโกล่าจะสามารถทนแล้งได้ถึง 100 วัน ซึ่งนานกว่าข้าวโพด ลงทุนครั้งเดียวหากมีระบบการจัดการที่ดี จะยืดอายุการใช้งานได้ 7-8 ปี สำหรับหญ้าแพงโกล่าสามารถปลูกได้ทั้งในพื้นที่ลุ่มและที่ดอน ในส่วนของกลุ่มฯเป็นเขตพื้นที่ที่ต้องอาศัยน้ำฝน จะปลูกหญ้าในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยใช้ท่อนพันธุ์อายุไม่น้อยกว่า 60 วัน ในอัตรา 200-250 กิโลกรัม/ไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไร่ละประมาณ 2,000 บาท
ช่วงฤดูฝนดินจะมีความชุ่มชื้นมาก หญ้าแพงโกล่าจะตั้งตัวได้เร็วและเจริญเติบโตดี แต่สมาชิก ต้องหมั่นดูแลกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ หลังปลูกสามารถตัดหญ้าได้ครั้งแรกที่อายุ 60-70 วัน ทุกครั้งหลังตัดหญ้าต้องใส่ปุ๋ยเคมีในอัตราไร่ละ 25 กิโลกรัม/ไร่ โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง และต้องใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยมูลโคเพื่อปรับปรุงบำรุงดินในแปลงด้วย ซึ่งพื้นที่ 1 ไร่ จะได้หญ้าสดประมาณ 3-4 ตัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและระบบการจัดการ
นายจำเริญ กล่าวว่า กลุ่มฯ ได้กำหนดราคาจำหน่ายหญ้าสดกิโลกรัมละ 1 บาท ส่วนที่เหลือใช้ผลิตหญ้าแห้งคุณภาพดี อัดก้อน ได้ประมาณ 30-40 ก้อน/ไร่ น้ำหนักก้อนละ 20 กิโลกรัม หรือมีกำลังการผลิตหญ้าแห้งประมาณ 100-120 ตัน/รอบการผลิต ซึ่งหนึ่งปีจะตัดหญ้าแพงโกล่าเพื่อทำหญ้าแห้งประมาณ 2 รอบ จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 3 บาท (ก้อนละ 60 บาท) โดยป้อนให้กับสมาชิกและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อและกระบือในพื้นที่ ปัจจุบันยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด และกลุ่มฯได้สร้างเครือข่ายตลาดหญ้ากับวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตหญ้าอาหารสัตว์ และกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อำเภอสามชุก ทับหลวง และนิคมกระเสียว ซึ่งอาชีพทำนาหญ้านี้ถือว่ามีความเสี่ยงน้อย และพอมีรายได้ หล่อเลี้ยงครอบครัวสมาชิกให้อยู่รอดได้
หากสนใจเกี่ยวกับการทำนาหญ้าหรือต้อง การอุดหนุนหญ้าอาหารสัตว์คุณภาพดี สามารถติดต่อได้ที่ วิสาหกิจชุมชนนาหญ้า เลขที่ 56/3 หมู่ 1 ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี โทรศัพท์ 08-6127-4724
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 กรกฎาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=169234&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น