เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 51
แก่นตะวัน (Jerusalem artichoke) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Helianthus tuberosus L. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นพืชล้มลุก ลักษณะหัวเหมือนกับขิงหรือข่า ดอกมีสีเหลืองสดคล้ายบัวตอง มีขนคล้ายหนามกระจายทั่วลำต้นและใบ ความสูงต้นประมาณ 1.5-2.0 เมตร
หากใครไปที่...มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ก็จะพบกับ ทุ่งแก่นตะวันอันกว้างใหญ่ เพราะที่นี่ได้ทดลองปลูกหลายปีมาแล้ว โดย รศ.ดร.สนั่น จอกลอย อาจารย์จากคณะเกษตรศาสตร์ มข. บอกว่า มข.นำสายพันธุ์แก่นตะวันเข้ามาปลูกในแปลงทดลองวิจัยของคณะเกษตรศาสตร์ จำนวน 24 สายพันธุ์ จากนั้นวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ให้บริสุทธิ์ โดยพบว่า สายพันธุ์ KKU Ac 008 ให้ ผลผลิตหัวสดสูง 2-3 ตันต่อไร่ ทั้งการปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้ง หัวใหญ่ มีแขนงน้อย รสชาติหวาน เหมาะที่จะรับประทานหัวสด และนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ
สำหรับถิ่นกำเนิดของแก่นตะวันอยู่ใน แถบหนาวของทวีปอเมริกาเหนือ แต่สามารถ ปรับตัวได้ดีในเขตร้อน มีความ แข็งแกร่งทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ ที่แตกต่างกัน จึงได้ชื่อนำหน้าว่า “แก่น” และสายพันธุ์ใกล้ชิดกับ ทานตะวัน นักพฤกษศาสตร์จึงตั้งชื่อรวมกันว่า “แก่นตะวัน”
มข.ยังได้ศึกษาวิจัยถึงสรรพคุณของแก่นตะวัน...พบว่าส่วนหัวเป็นแหล่งสะสมของ อินนูลิน (inulin) ประกอบด้วย น้ำตาลฟรุ๊คโตสที่ต่อกันเป็นโมเลกุลยาว มีคุณสมบัติ ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็น โรคเบาหวาน ลดไขมันในเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ และ สร้างภูมิคุ้มกันโรค...
เมื่อบริโภคแล้วจะมีสารเยื่อใยอาหาร ไม่ถูกย่อยในกระเพาะและลำไส้เล็ก แต่อยู่ในระบบทางเดินอาหารเป็นเวลานาน ทำให้ส่งผลให้ไม่มีความรู้สึกหิว กินอาหารได้น้อยลงเป็นการช่วย ลดความอ้วน และลดความเสี่ยงการเป็น โรคมะเร็งลำไส้...รศ.ดร.สนั่น จอกลอย กล่าวและว่า
ในด้าน การปศุสัตว์ ยังใช้เสริมในอาหารเลี้ยงสัตว์ เมื่อทดสอบแล้วพบว่า ลดจุลินทรีย์ที่เป็นโทษ ใน ระบบทางเดินอาหาร สร้างภูมิ คุ้มกันให้แก่สัตว์ ทำให้ ลดการใช้สารปฏิชีวนะ และมูลสัตว์มีกลิ่นเหม็นน้อยลง...ด้าน พลังงานทดแทน นั้น ใช้หัวสดจำนวน 1 ตัน สามารถผลิต เอทานอลที่บริสุทธิ์ 99.5% ในปริมาณ 100 ลิตร จากนั้นนำไป ผสมน้ำมันเบนซิน เพื่อ ผลิตแก๊สโซฮอล์ กลายเป็น พลังงานทดแทน ได้ ...แต่นำมาเป็นอาหารเสริมจะ มีราคาที่สูงกว่า ใช้เป็นพลังงาน
มข. ยังมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับ พืชอาหาร และ พืชพลังงาน อีกมากมาย จึงร่วมกับ สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาขึ้นใน วันที่ 9 กรกฎาคม ณ ห้องประชุม สายสุรี จุติกุล คณะศึกษาศาสตร์ หากจะร่วมกิจกรรมก็เชิญ...งานนี้มีทั้งตำรา ให้ความรู้และอาหารกลางวันบริการฟรี... หรือใครสนใจชม ทุ่งแก่นตะวัน กริ๊งกร๊างหา รศ.ดร.สนั่น จอกลอย 0-4320-2360, 0-4336-4637 ในเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 7 กรกฎาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=96100