เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 51
ซึ่งต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการระเหยน้ำออกจากผลลำไยจนแห้ง หากเป็นเมื่อก่อนนี้น้ำมันยังราคาไม่แพงแบบวันนี้ เราก็ใช้กันอย่างไม่ค่อยต้องคิดอะไรมากนัก
ยกตัวอย่าง เช่น การออกแบบเครื่องอบแห้งลำไย ส่วนใหญ่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงในการให้ความร้อน ซึ่งการออกแบบเตาอบเพื่อให้ความร้อนมาระเหยน้ำจากผลลำไยเน้นที่ราคาเครื่องถูกแต่ประสิทธิภาพในการให้ความร้อนค่อนข้างต่ำมาก หมายความว่าเมื่อเทียบกับพลังงานที่ใส่เข้าไปแล้วกับความร้อนที่ได้ดูแล้วไม่ค่อยคุ้มกัน ตัวอย่างอีกอันหนึ่งเกี่ยวกับการอบแห้งก็คือ เรื่องของโรงบ่มใบยาสูบ ที่ใช้ความร้อนจากถ่านหินมาทำให้ใบยาแห้ง
ทั้งสองตัวอย่างนี้เป็นวิธีการดั้งเดิมที่ไม่ค่อยมีใครคิดอยากจะปรับปรุงเพราะต้นทุนเชื้อเพลิงเมื่อก่อนนี้ยังไม่แพง จึงไม่เกิดแรงจูงใจให้พัฒนาเครื่องที่ดีขึ้น แต่ตอนนี้โชคดีที่มีนักวิชาการอย่าง รศ.ดร.ชัชวาล ตัณฑกิตติ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาวิจัยไว้ล่วงหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับปัญหาเหล่านี้ไว้แล้ว
เริ่มแรกเลยคือสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนี้ได้พัฒนาวิธีการลดพลังงานในโรงบ่มใบยาสูบมาตั้งแต่ปี 2539 และเตาอบลำไยตั้งแต่ปี 2548 โดยที่ผ่านมาหน่วยวิจัยนี้ได้ปรับปรุงโรงบ่มใบยาไปแล้วทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวม 187 ชุด คิดเป็นพลังงานที่ประหยัดเทียบเท่าลิกไนต์ 74,146 ตัน/ปี หรือคิดเป็นเงินประมาณ 33.70 ล้านบาท/ปี
ส่วนเตาอบลำไยมีการวิจัยปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเป็นเตาอบลำไยประสิทธิภาพสูง ซึ่งสามารถประหยัดพลังงานเทียบเท่าก๊าซแอลพีจี 7,000 กิโลกรัม/ชุด/ปี หรือคิดเป็นเงิน1.3 แสนบาท/ชุด/ปี
จากผลสำเร็จที่ผ่านมา กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงานจึงได้ให้สถาบันวิจัยแห่งนี้ดำเนินโครงการต่อเนื่องอีก 5 ปี ระหว่าง 2551-2555 โดยใช้งบประมาณจำนวน 380 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการลดการใช้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต โดยการปรับเปลี่ยนเป็นระบบความร้อนแบบรวมศูนย์หรือเตาประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานในโรงบ่มได้ถึง 70% ลดการสูญเสียปริมาณใบยาแห้งและแรงงาน
ส่วนเตาอบลำไยประสิทธิภาพสูงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเชิงความร้อนสูงขึ้นจาก 28% เป็น 35% ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้ถึง 5 บาทต่อกิโลกรัม ลำไยแห้งเมื่อเทียบกับเตาอบแห้งแบบเดิม โครงการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะปรับปรุงเตาอบแห้งลำไยและโรงบ่มใบยาให้ได้ 3,000 ชุดภายใน 5 ปีซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการใช้ลิกไนต์ในอุตสาหกรรมบ่มใบยาได้ 71 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นเงิน 85 ล้านบาท และลดการใช้แอลพีจี ในอุตสาหกรรมอบแห้งลำไยได้รวม 38 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นเงิน 702 ล้านบาท และที่สำคัญคือยังช่วยลดปัญหาด้านมลภาวะทางอากาศ ที่เกิดจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้อีกด้วย
ตอนนี้จึงนับเป็นโอกาสดี ของผู้ประกอบการอบแห้งลำไย และโรงบ่มใบยา ที่จะมีวิธีการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง เพราะโครงการกำลังมองหาผู้สนใจเข้าร่วมโครงการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งยุคนี้หาโอกาสทองแบบนี้ได้ยาก ใครที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยโทรศัพท์ไปที่ 0-5394-2007-9 เพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 7 กรกฎาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/07/07/x_agi_b001_210131.php?news_id=210131