เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 51
พังงา...เป็นเมืองเศรษฐกิจจังหวัดหนึ่งของภาคใต้ ในอดีตจะมีรายได้ จากการทำเหมืองแร่ แต่ในปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพการเกษตร ซึ่งมีทั้งประมง ปศุสัตว์ และกสิกรรม
การกสิกรรมนั้นมีการปลูกพืชหลากหลายชนิด เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมและการบริโภคเป็นอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ ซึ่ง นายสมศักดิ์ ประทีปโชติพร เกษตรจังหวัดพังงา เผยว่า....จังหวัดนี้มีพื้นที่ในการกสิกรรมแบ่งเป็นปลูก ยางพารา ประมาณ 100,000 กว่าไร่ กับ ปาล์มน้ำมัน อีก 100,000 กว่าไร่ นอกนั้นเป็นสวนไม้ผลจำพวก ลองกอง มังคุด ลำไย ฯลฯ
ณ วันนี้ ราคาผลไม้เกิดตกต่ำ เกษตรกรบางรายถึงขั้นโค่นต้นมังคุดกับลองกองทิ้ง... เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันกันอย่างมากมาย เนื่องจากไม้ผลเป็นพืชที่สร้างรายได้เป็นรายปี อีกทั้งต้นทุนการผลิตสูง ดูแลยุ่งยาก ทั้งโรคแมลงและการใส่ปุ๋ยบำรุงต้น ที่ต้องใช้ตั้งแต่เริ่มติดดอกไปถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิต... แต่ปาล์มน้ำมันนั้นดูแลไม่นาน เมื่ออายุ 3 ปีขึ้นก็ให้ผลผลิตสร้างรายได้เป็นรายเดือน
เกษตรจังหวัดพังงา ยังบอกอีกว่า ได้พยายามวางแนวคิดให้กับเกษตรกรว่า ไม่ควรหวังพืชเชิงเดี่ยว เพราะจะเกิดปัญหามากมาย อีกทั้งการโค่นไม้ผลจนหมด ในอนาคตผลไม้จะมีราคาแพงแน่นอน โดยยังแนะนำอีกถึงการทำเกษตรกรรมนั้นต้อง ใช้ภูมิคุ้มกัน และ ภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อให้มีรายได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี โดยใช้ หลักทฤษฎีใหม่ และ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ลุงวีรชัย ราษฎร์สภา เกษตรกรรายหนึ่งของจังหวัดพังงา ที่ได้ยึดถือแนวเกษตรตามแนวพระราชดำริจนได้รับคัดเลือกให้เป็น เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี พ.ศ. 2539 เล่าถึงปูมหลังว่า...ภูมิลำเนาเดิมอยู่นครปฐม อพยพมาทำงานอยู่ที่ หมู่ 2 ต.ทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เมื่อปี 2529
เริ่มแรกของอาชีพได้ทำสวนผลไม้ปลูกลองกอง สละ ระกำ ทุเรียน มังคุด และยังเพาะพันธุ์ไม้ผลออกจำหน่ายก็มีรายได้พอเลี้ยงชีพและครอบครัว ต่อมาในปี 2547 ได้เล็งเห็นว่า ลำไยเป็นไม้ผลที่น่าทดลองปลูกเพราะราคาดีขึ้น เลยเอาลำไย สายพันธุ์เพชรเวียงพิงค์ จาก จังหวัดเชียงใหม่ ราวๆ 100 ต้น ปลูกในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ โดยวางระยะ 12x12 เมตร
เมื่อต้นอายุได้ 3 ปี ลำไยเริ่มติดผล จึงให้ปุ๋ยทางใบร่วมกับสาหร่าย เพื่อช่วยให้ต้นพืชสะสมอาหาร จากนั้นได้บังคับให้ออกดอก โดยการใช้ปุ๋ยสูตร 3-1-4 หรือสูตร 15-5-20 และใช้ แคลเซียมผสมโบรอน โดยการ ผสมแคลเซียมไนเตรท 1.2 กิโลกรัมกับ บอแรก 400 กรัมและน้ำ 20 ลิตร คนให้เข้ากันจนทั่ว (ต้นทุนทำเองประมาณ 5 บาทขณะที่ซื้อราคาสูงถึง 100 บาท) หากต้องการใช้ให้นำส่วนผสมนี้ในอัตรา 100 ซีซี ผสมกับน้ำอีก 1 ลิตร ไปราดที่โคนต้นซึ่งกระทำเป็นรุ่นจำนวน 3 รุ่นในรอบปี
ในช่วงลำไยออกผลและเริ่มโตขึ้น มักจะมีปัญหาศัตรูพืชเข้าทำลาย โดยเฉพาะค้างคาวมากินผลลำไยสร้างความเสียหาย จึงคิดป้องกันและกำจัดศัตรูพืชใช้ ภูมิปัญญาจากอดีต เพราะเคยเห็นพ่อตาทำสวนแล้ว ไล่ค้างคาวด้วยการสุมไฟในเวลากลางคืน จึงคิด สร้างถังเผาถ่านขึ้น เพื่อ สร้างม่านควัน เมื่อค้างคาวได้กลิ่นควันจากการเผาไหม้ มันก็จะบินหนีไป โดยนำเตานี้ไปวางไว้ บริเวณ 4 ด้าน ของสวนลำไย
เจ้าของสวนราษฎร์สภา เผยอีกว่า สำหรับผลผลิตลำไยที่ออกมารุ่นแรกเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ประมาณ 40-50 ต้น ต้นละประมาณ 120-200 กิโลกรัม สามารถจำหน่ายได้ในราคา 30-40 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในรุ่นต่อไปจะออกในเดือน ก.ค. นี้ และรุ่นสุดท้ายออก ในช่วงปีใหม่ และ เทศกาลตรุษจีน ปี พ.ศ. 2552....คาดว่าผลผลิตจะไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 40 บาทแน่นอน
นอกจากลำไยแล้ว...ในสวนยังมีผลไม้ให้เปิบอย่างน้อย 9 อย่าง คือ มะละกอ สับปะรด กล้วย ชมพู่ แตงโม สละ ขนุน มังคุด และส้ม ใครสนใจไปท่องเที่ยว สวนราษฎร์สภา กริ๊งกร๊างหา วีรชัย ราษฎร์สภา ก่อนล่วงหน้าที่ 0-7644-5416, 08-4054-8250 เพื่อประกันความผิดหวัง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 9 กรกฎาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=96337