เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 51
สหกรณ์ของประเทศไทยในทุกวันนี้ นับได้ว่ามีความก้าวหน้าเป็นลำดับ มีเกษตรกรและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมและให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากหลายปัญหาที่เป็นปัญหาใกล้ตัวของเกษตรกรและประชาชนสามารถแก้ไขได้ด้วยระบบสหกรณ์ อาทิ ปัจจัยการผลิต ปัจจัยการลงทุน ไปจนถึงกลไกด้านการตลาดของผลผลิต
แต่จากที่มีการเจริญเติบโต และมีผลประโยชน์ที่สามารถหยิบฉวยได้อย่างทันทีทันใดหากการบริหารสหกรณ์เกิดความหละหลวมในการตรวจสอบ ปัญหาของสหกรณ์ก็จะต้องติดตามมา ด้วยเหตุนี้การเตือนภัยต่อระบบการบริหารและทางการเงินของสหกรณ์ จึงมีความจำเป็นและสำคัญยิ่งที่จะต้องมี ทั้งนี้เพราะความผันผวนของภาคธุรกิจมีสูงมาก สถานการณ์มีความเสี่ยงรุนแรง เงินเฟ้อรุนแรง ธุรกิจแย่ลง เศรษฐกิจซึม คนมีเงินน้อยลง ซึ่งเกี่ยวพันกับสหกรณ์อย่างหลีกหนีไม่ได้ หากการบริหารสหกรณ์เป็นไปอย่างมีข้อบกพร่องแล้วโอกาสของการขยายผลในความเสียหายก็ย่อมที่จะเกิดขึ้นได้อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นเช่นกัน
ล่าสุดจากการเปิดเผยของ นายธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์ในพื้นที่ภาคอีสาน ภายหลังที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ประเมินสถานะทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรด้วยระบบ CFSAWS:ss พบว่าสหกรณ์อีสานมีความเสี่ยงด้านการเงินสูงมากถึง 1,171 แห่ง
นายธีระชัย บอกว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานสหกรณ์ในพื้นที่ภาคอีสาน ภายหลังจากพบว่า สหกรณ์ในพื้นที่ภาคอีสานมีสถานะการเงินเสี่ยงสูงสุด และต้องมีการเฝ้าระวังทางการเงินอยู่ในระดับมากขึ้นเป็นพิเศษและพิเศษเร่งด่วน จำนวน 2,552 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 80.63 ของจำนวนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในภาคอีสาน หรือ ร้อยละ 25.41 ของจำนวนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้สหกรณ์สามารถรับรู้สถานการณ์ทางการเงินของตนเอง โดยมีระบบการเฝ้าระวังและการเตือนภัยทางการเงิน ซึ่งจะช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที หากพบว่าสถานะการเงินของสหกรณ์อยู่ในระดับเสี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดทุนและวิกฤติทางการเงินจนสหกรณ์ต้องปิดกิจการไปในที่สุด
อย่างไรก็ตามในส่วนที่ประสบผลเร็จของสหกรณ์พื้นที่ภาคอีสานก็มีเช่นกัน เช่น สหกรณ์การเกษตรกันทรวิชัย จำกัด จังหวัดมหาสารคาม สหกรณ์แห่งนี้เป็น สหกรณ์ขนาดใหญ่ระดับอำเภอ มีสมาชิก 3,000-4,000 คน ทุนการดำเนินงานมากกว่า 100 ล้านบาท เป็นสหกรณ์ชั้นดี ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และมีการดำเนินงานที่เข้มแข็ง ซึ่งการวิเคราะห์และเฝ้าระวังทางการเงินของสหกรณ์การเกษตรกันทรวิชัย จำกัด พบว่าอยู่ในระดับปกติ เนื่องจากมีคณะกรรมการและฝ่ายจัดการที่มีคุณภาพ มีการบริหารงานด้วยความโปร่งใส สุจริต มีการทำระบบบัญชีที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ทางสหกรณ์ยังได้จัดทำแผนกลยุทธ์การดำเนินงานของตนเอง และสามารถบริหารองค์กรได้ตามแผนงานและเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งสหกรณ์ทั้งสองแห่งนี้มีความโดดเด่นในเรื่องเงินทุนซึ่งได้จากการระดมหุ้นและเงินฝากของสมาชิก ทำให้สหกรณ์มีเงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้และเป็นสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็ง เป็นสหกรณ์ที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น และสามารถเป็นตัวอย่างให้กับสหกรณ์อื่น ๆ มาศึกษาแนวทางในการบริหารองค์กรให้ประสบผลสำเร็จได้
“สำหรับแนวทางในการให้ความช่วยเหลือสหกรณ์ที่ยังมีสถานะการเงินอยู่ในระดับความเสี่ยงมากนั้น ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ บูรณาการงานร่วมกันในการที่จะเข้าไปดูแลและให้คำแนะนำแก่สหกรณ์ที่มีระดับความเสี่ยงทางสถานะการเงินสามารถควบคุมและลดความเสี่ยงในการดำเนินงาน ด้วยการปรับปรุงและวางระบบการบริหารจัดการสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ เกิดความโปร่งใส รวมถึงกำหนดแผนกลยุทธ์ในการดำเนินงานและตัวชี้วัดความสำเร็จของสหกรณ์ ซึ่งจะช่วยให้สหกรณ์นั้นมีเป้าหมายและแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นต่อไป” นายธีระชัย กล่าว
การสหกรณ์นับเป็นแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงด้วยเช่นกันคือ ในส่วนบุคคลถือเป็นการฝึกให้สมาชิกได้รู้จักออม รู้จักวางแผนการใช้เงิน ในส่วนสหกรณ์ถือเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงขั้นที่ 2 คือ การเชื่อมโยงครัวเรือนมาเป็นกลุ่ม สหกรณ์เป็นองค์กรที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เพราะสหกรณ์เป็นกลไกสำคัญของพื้นฐานในการส่งเสริมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สหกรณ์มีภูมิคุ้มกันในตัว แม้โลกจะเปลี่ยนไปเร็ว และมีความเสี่ยงสูง ระบบสหกรณ์ก็จะสามารถช่วยให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันที่ดีได้อย่างมั่นคงนั่นเอง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 กรกฎาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=169653&NewsType=1&Template=1