เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 51
นิสิต มก. แนะวิธีการล้างผักและผลไม้ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ความถี่ 60 กิโลเฮิรตซ์ เพื่อช่วยลดการใช้น้ำในกระบวนการล้างและลดน้ำเสีย ทั้งยังก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งทางด้านสารเคมีและเชื้อจุลินทรีย์ที่ตกค้างอยู่ในผัก และผลไม้
นางสาวพวงแก้ว เตชะภัทร และ นายธัศวินทร์ ยิ้มละมัย นิสิตภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการวิจัย การล้างผักและผลไม้ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง โดยมี ดร.สิริชัย ส่งเสริมพงษ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในโครงการวิจัยระดับปริญญาตรี ภายใต้โครงการปรับปรุงการผลิตด้วยเทคโนโลยีสะอาด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า
โดยทั่วไปการล้างผักและผลไม้ในโรงงานแปรรูปอาหาร ขั้นตอนที่สูญเสียน้ำมากที่สุดเกิดขึ้นในขั้นตอนของกระบวนการล้าง ซึ่งสูงถึง 68 เปอร์เซ็นต์ ของกระบวนการที่ใช้น้ำทั้งหมด จึงหาวิธีการลดการสูญเสียที่เกิดขึ้นและเพิ่มความปลอดภัยจากจุลินทรีย์และสารเคมีตกค้างในวัตถุดิบ ซึ่งการทดลองจะใช้ผักและผลไม้รวม 4 ชนิด ที่พบปัญหาสารเคมีตกค้างในปริมาณมาก คือ ผักชีไทย ผักคะน้า พริกชี้ฟ้า และองุ่นเขียว ซึ่งจะนำมาทดลองล้างร่วมกับเครื่องอัลตร้าโซนิค โดยทดลองที่ความถี่ที่ต่างกันคือ ที่ 4 ความถี่ ดังนี้ 35 kHz, 38.5 kHz, 60 kHz และ 67 kHz, จากนั้นเลือกความถี่และหาระยะเวลาที่เหมาะสมโดยพิจารณาจากลักษณะทางกายภาพของผักผลไม้ที่เกิดขึ้นหลังจากการล้าง จากนั้นทำการหาสัดส่วนผักและผลไม้ที่เหมาะสมต่อการล้างด้วยน้ำ 2 ลิตร ร่วมกับเครื่องอัลตร้าโซนิค โดยพิจารณาจากการตรวจวัดสารเคมีตกค้างทั้งก่อนและหลัง ด้วยชุดตรวจสอบ GT เพื่อดูค่าความเป็นพิษ แล้วทำการทดลองการล้างผักและผลไม้กับเครื่องอัลตร้าโซนิค ร่วมกับสารทำความสะอาด 3 ชนิด คือ โซเดียมไบคาร์บอเนต น้ำส้มสายชู และน้ำยาล้างผักและผลไม้ ที่เวลาที่กำหนดจากการทดลองก่อนหน้านี้ เมื่อล้างเสร็จแล้วทำการแช่ด้วยสารฆ่าเชื้อที่เรียกว่า น้ำอิเล็กโทรไลต์ ชนิดกรด มีคุณสมบัติในการทำลายแบคทีเรีย รา และไวรัส คล้ายคลึงกับสารประกอบคลอรีน เป็นเวลา 3 นาที จากนั้นทำการตรวจสอบสารเคมีตกค้างและปริมาณจุลินทรีย์ พบว่าความถี่ที่เหมาะสมที่สุดในการล้างผักและผลไม้ด้วยเครื่องอัลตร้าโซนิค ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยคือ ความถี่ 60 kHz ได้เวลาที่เหมาะสมในการล้างผักชีไทย คือ 3 นาที ผักคะน้า พริกชี้ฟ้า และองุ่นเขียว ที่เวลา 7 นาที และปริมาณที่เหมาะสมของผักชีไทย ผักคะน้า พริกชี้ฟ้า และองุ่นเขียว คือ 160 กรัม, 220 กรัม, 700 กรัม และ 600 กรัม ต่อน้ำ 2 ลิตร ตามลำดับ และจากผลทดลองสุดท้ายพบว่า การล้างด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนตมีสารเคมีตกค้างน้อยที่สุดในทุก ๆ ตัวอย่างที่ทำการทดลองและเมื่อแช่ในน้ำอิเล็กโทรไลต์นาน 3 นาที พบว่า ในผักชีและคะน้า ที่ล้างด้วยน้ำส้มสายชูและแช่ด้วยน้ำอิเล็กโทรไลต์มีสารเคมีตกค้างน้อยที่สุด ส่วนองุ่นเขียว และพริกชี้ฟ้า ที่ล้างด้วยน้ำยาล้างผักและผลไม้และแช่ด้วยน้ำอิเล็กโทรไลต์มีสารเคมีตกค้างน้อยที่สุด
ผลจากการตรวจหาเชื้อจุลินทรีย์ในการล้างผักและผลไม้โดยใช้เครื่องอัลตร้าโซนิคร่วมกับน้ำยาล้างผักและผลไม้ พบว่า จำนวนจุลินทรีย์ของผักชี ผักคะน้า องุ่น และพริกชี้ฟ้า ลดลง 78.93, 76.92, 57 และ 73.33 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และหลังจากแช่ด้วยน้ำอิเล็กโทรไลต์ลดลงถึง 96.07, 94.69, 97.6 และ 96.89 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งผลทางด้านเศรษฐศาสตร์พบว่า การใช้อัลตร้าโซนิคล้างองุ่นจะประหยัดน้ำได้มากที่สุด 5,056.03 บาทต่อปี
การใช้คลื่นอัลตร้าโซนิค 60 กิโลเฮิรตซ์ จึงเหมาะสมในการนำมาใช้ล้างผักและผลไม้ในครัวเรือน และสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดในส่วนของอุตสาหกรรมการส่งออกพืช ผัก และผลไม้
โดยผลงานวิจัยข้างต้นจะช่วยพัฒนาความสะอาด ปลอดภัย ให้กับสินค้าเกษตรได้เป็นอย่างดี ลดการสูญเสียน้ำจากการล้าง และลดปัญหาน้ำเสียให้กับโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 กรกฎาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=169652&NewsType=1&Template=1