เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 51
แต่ว่าความจริงแล้วการตากแห้งปลาแบบที่เคยใช้อยู่ หากไม่มีการพัฒนาก็คงเดิมๆ ทั้งๆ ที่มีช่องทางที่จะพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นได้
นี่แหละครับที่ทีมงานระดับดอกเตอร์ถึง 3 คน ให้ความสนใจในเรื่องนี้ และหาทางพัฒนาวิธีการทำแห้งปลาให้มีคุณภาพดีขึ้นมาได้โดยใช้เทคโนโลยีอบแห้งแบบไมโครเวฟครับ
งานวิจัยชุดนี้เป็นงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. ซึ่งเป็นงานของเครือข่ายภาคใต้ตอนบน และมี ดร.นฤมล มาแทน เป็นหัวหน้าชุดโครงการ ในทีมงานก็ยังมี ดร.มนัส ชัยจันทร์ และ ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ เป็นทีมงาน ที่แบ่งงานกันทำเป็นส่วนๆ จนในที่สุดได้เครื่องต้นแบบไมโครเวฟสำหรับอบแห้งจำพวกปลานิล และวิธีการอบแห้งที่น่าจะมีประสิทธิภาพสูงออกมาแนะนำให้ชาวบ้านได้ใช้แล้ว
ปัญหาของการตากแห้งปลาที่ผ่านมาคือ เราพึ่งพาแสงอาทิตย์เป็นหลัก ความจริงแล้วก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดเพราะใช้พลังงานที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือความสะอาดและปัญหาเรื่องแมลง ซึ่งมีผลทำให้เกิดความเสียหายค่อนข้างมาก ที่สำคัญกว่านั้นคือเรื่องของแสงแดด เป็นเรื่องของธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคใต้ที่มีฝนชุกในหลายช่วงของปี
ดังนั้นความเสียหายก็อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีแดดไม่พอ ปลาก็อาจเน่าเสียหายได้มาก จึงมีการพัฒนาเครื่องมือเข้ามาช่วยน่าจะเป็นทางออกหนึ่ง ซึ่งเดิมก็เคยมีการออกแบบเครื่องอบแห้งแบบเป็นกล่องทาสีดำเพื่อเพิ่มความร้อน แต่ก็ยังต้องพึ่งพิงแสงอาทิตย์อยู่ดี แต่ทีมวิจัยนี้ใช้เทคโนโลยีไมโครเวฟ ซึ่งปัจจุบันเราก็รู้จักกันดีเพราะมีการใช้ตามบ้านเรือน เพียงแต่ว่าหากจะเอาเตาไมโครเวฟที่ใช้ในครัวมาอบแห้งปลาก็คงทำไม่ได้เพราะกลายเป็นว่าปลาจะสุกหมด ไม่ได้แห้งแบบการตากแดด
ด้วยเหตุนี้นักวิจัยใช้หลักการไมโครเวฟ แต่ว่าออกแบบใหม่และใช้พลังงานต่ำ จึงไม่ได้ทำให้ปลาสุกแต่ว่าน้ำจะค่อยๆ ระเหยออกไปจนแห้งได้ที่ตามที่ต้องการ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง รวมแล้วเปลืองเงินค่าพลังงานประมาณกิโลกรัมละ 1 บาทเท่านั้น และที่สำคัญคือมีการวิเคราะห์คุณภาพของเนื้อปลาทั้งรสชาติ สีสัน และอื่นๆ พบว่ามีคุณภาพดีกว่าการอบแห้งแบบเดิมที่ใช้แสงอาทิตย์เป็นหลัก ตอนนี้ก็มีการผลิตเครื่องต้นแบบโดยใช้วัสดุที่หาได้ในเมืองไทยเป็นส่วนใหญ่ และส่งมอบให้ชาวบ้านเอาไปใช้แล้ว
นักวิจัยกลุ่มนี้ยังพยายามหาทางปรับปรุงคุณภาพของปลาแห้ง หรือถ้าจะเรียกให้ถูกต้องก็คือปลากึ่งแห้ง (ปลาแดดเดียว) เพราะไม่ได้แห้งสนิททีเดียว เพื่อให้เก็บรักษาได้นานขึ้น และมีความปลอดภัยจากเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ คาดว่าอีกไม่นานก็น่าจะได้ผลออกมาและนำมาใช้กันต่อไป
จะเห็นได้ว่าเรื่องของปลาแห้งที่เราคิดว่าไม่มีอะไรนั้น ความจริงแล้วก็ยังมีส่วนที่ยังพัฒนาได้อีกมาก และต้องใช้ความรู้ขั้นสูงมาช่วยในการพัฒนา การที่นักวิจัยในมหาวิทยาลัยหันมาหาทางช่วยเหลือชุมชน โดยการสร้างผลงานที่ลงสู่พื้นที่ได้จริงเช่นนี้ จึงเป็นวิธีคิดที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุดครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 14 กรกฎาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/07/14/x_agi_b001_210971.php?news_id=210971