เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 51
“โรคเริม” เกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ (herpes simplex virus, HSV) แบ่งออกเป็น 2 ชนิดได้แก่ HSV-1 ที่แสดงอาการตามร่างกายในตำแหน่งสูงกว่าสะดือ เช่น สมองอักเสบ เยื่อบุตา กระจกตาอักเสบ
ส่วน HSV-2 ก่อให้เกิดโรคบริเวณอวัยวะเพศ เชื้อชนิดนี้มักเกิดขึ้นกับทารกแรกคลอดด้วยเช่นกัน ซึ่งชนิดยาที่ใช้ รักษาต้องสั่งนำเข้าจากต่างประ-เทศและยังคงมีราคาสูง
การค้นหายาต้านไวรัสชนิดใหม่ที่มีกลไกออกฤทธิ์ต่างจากยาปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
ดังนั้น ทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จึงให้ทุนสนับสนุน รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ศึกษา วิจัยสมุนไพรไทย ที่มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสเริม
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ เผยว่า โรคเริมสามารถติดต่อได้ ด้วยการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งที่มีเชื้อ ทั้งจากการสัมผัสเยื่อ และบาดแผลที่ผิวหนัง ซึ่งภายหลังจากติดเชื้อครั้งแรก ไม่ว่าจะแสดงอาการหรือไม่ ไวรัสจะแฝงตัวอยู่ในปมประสาทของร่างกาย เมื่อ มีการกระตุ้นทั้งสาเหตุอันเกิดจากเป็นไข้ ความเครียด ภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยน แปลงอาการของโรคจะแสดงออกทันที
และ...ที่น่าเป็นห่วงคือปัจจุบันพบว่า ไวรัสเริมบางสายพันธุ์ เริ่มดื้อต่อยา แนวทางการรักษาจึงอาจต้องใช้ยาอื่นร่วมด้วย ดังนั้น ทีมวิจัยได้ มุ่งศึกษาสมุนไพรไทย ที่มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส (เชื้อเริม) อาทิ ข่าเล็ก เปลือกต้นฝาง ทับทิม กานพลู พญายอ มะหาด
ด้วยการเอาพืชเหล่านี้นำมาสกัดสาร นำไปทดสอบในหลอดทดลอง พบว่าใน “แก่นมะหาด” มี สารออกฤทธิ์ (oxyresveratrol) ที่สามารถต้านไวรัสเริมได้ทั้งสองชนิด และ เพื่อให้เกิดผลแน่นอนจึงนำมาศึกษาในสัตว์ทดลอง คือหนูที่ติดเชื้อไวรัส HSV-1 โดยนำสาร oxyresveratrol มาทำเป็นยาในรูปขี้ผึ้งที่ความเข้มข้น 30% แล้วนำไปทาผิวหนังหนูทดลองบริเวณที่เป็นแผล วันละ 5 ครั้ง
พบว่า...สารสกัดแก่นมะหาด ให้ประสิทธิภาพลดความรุนแรงของแผลในสัตว์ทดลองได้อย่างชัดเจนเทียบเท่ากับครีม acyclovir ขนาดความเข้มข้น 5% ซึ่งเป็น ยาสังเคราะห์ที่ใช้รักษาโรคเริมในปัจจุบัน ที่มียอดขายอันดับที่ 16 ของโลก
ฉะนี้...สาร oxyresveratrol จากแก่นมะหาด จึงมีศักยภาพนำมาใช้เป็นยาทาผิวหนังต้านไวรัสเริมได้ อย่างไรก็ตาม คณะวิจัยจะพัฒนาสูตรต่อไป เพื่อให้สามารถลดปริมาณสารในตำรับยาให้เหมาะสม ทั้งการลดขนาดอนุภาครวมถึงรูปแบบ พร้อมมุ่งศึกษาประสิทธิภาพความเป็นพิษ
หากผลที่ได้มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดี คาดว่าในอนาคตจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับวงการแพทย์ของไทยอย่างแน่นอน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 14 กรกฎาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=96902