เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 51
ขยะมูลฝอยใน จ.ปทุมธานี นับเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งที่สร้างความหนักใจให้ผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากแต่ละวันมีขยะถึง 1,000 ตัน ขณะที่ศูนย์กำจัดขยะรวมของ จ.ปทุมธานี ฝั่งตะวันออกของเทศบาลเมืองลำลูกกา และศูนย์กำจัดขยะรวมปทุมธานี ฝั่งตะวันตกของเทศบาลเมืองปทุมธานีที่ อ.ลาดหลุมแก้ว
กินเนื้อที่ทั้ง 2 แห่งกว่า 400 ไร่ ที่ถูกปิดตายมากว่า 10 ปีแล้ว จึงทำให้บางพื้นที่มีการแอบทิ้งขยะในพื้นที่ร้าง แต่สำหรับเทศบาลเมืองรังสิต อ.ธัญบุรี เดชา กลิ่นกุสุม ในฐานะนายกเทศมนตรีมีความคิดบรรเจิด สนับสนุนให้ชาวบ้านเลี้ยงไส้เดือนดินให้กินขยะ ปรากฏว่าได้ผล ลงทุนน้อยด้วย
เดชาบอกว่า ขยะในเขตเทศบาลเมืองรังสิตที่รับผิดชอบนั้นมีวันละ 150 ตัน แยกเป็นขยะเปียกที่มาจากตลาดสดหวั่งหลี รังสิต ตลาดสุชาติ ตลาดติระพรพัฒน์ รวม 50 ตันต่อวัน และนับวันจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากในพื้นที่ 20.8 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรกว่า 7 หมื่นคน และประชาชนแฝงที่เดินช็อปปิ้งอยู่ในห้างต่างๆ อีกกว่า 4 แสนคนต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นจึงวางมาตรการเตรียมการบริหารจัดการขยะให้ครบวงจร ณ สถานีขนถ่ายขยะบนเนื้อที่ของเทศบาลเมืองรังสิต บนพื้นที่ 51 ไร่ ในเขต อ.หนองเสือ จุดมุ่งหมายต้องการให้ปริมาณขยะเปียกลดลงด้วยการใช้ไส้เดือนดินกินขยะ ส่วนที่เป็นขยะแห้งก็คัดขายเป็นขยะรีไซเคิล และที่ใช้งานไม่ได้ก็ใช้เครื่องบีบอัดเป็นเชื้อเพลิงก้อน จำหน่ายให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เพื่อนำไปใช้ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงในการลดต้นทุนการผลิต
เบื้องต้นเทศบาลเมืองรังสิต สั่งซื้อไส้เดือนดินจากโครงการหลวงจำนวน 15 กก.ประมาณ 1,200 ตัว มาขยายพันธุ์ ตอนนี้ขยายพันธุ์เรื่อยๆ และพบว่าไส้เดือนดินเหล่านี้เติบโตเร็ว รวมทั้งกินอาหารได้รวดเร็วมาก โดยเฉพาะขยะสดพืชผักผลไม้เศษอาหารจากบ้านเรือน หรือร้านค้าถือเป็นอาหารชั้นดีของไส้เดือนดิน โดยไส้เดือนจะปล่อยเมือกสารเอนไซม์มาย่อยสลายเศษอาหารให้กลายเป็นน้ำเหลวแล้วใช้ปากตะขอดูดเข้าไป จากนั้นก็จะมีทั้งฉี่และอึของไส้เดือนออกมาทำเป็นปุ๋ยน้ำและปุ๋ยผงคุณภาพสูงและราคาดีด้วย
นอกจากนี้น้ำหมักมูลไส้เดือนดินเป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรอีเอ็ม สามารถดับกลิ่นน้ำเน่าเสียได้อย่างดีอีกด้วย และมีคุณสมบัติสามารถดับกลิ่นกองขยะที่ส่งกลิ่นเน่าเหม็นได้ โดยใช้ส่วนผสม 1 ขวดต่อน้ำ 20 ลิตร นำไปรดกองขยะหรือพืชไร่ เพิ่มแร่ธาตุ อาหาร ฮอร์โมน สร้างจุลินทรีย์ในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืชไร่โดยตรง ปัจจุบันน้ำหมักมูลไส้เดือนบรรจุขวด 750 ซีซี ราคาขวดละ 40 บาท รวมทั้งมูลของไส้เดือนที่นำไปตากแห้งก็ยังจำหน่ายเป็นปุ๋ยผงชีวภาพชั้นดี ขายกิโลกรัมละ 100 บาท แต่สิ่งที่ควรระวังคือต้องเลี้ยงในที่ทึบมีความชื้นและอับแสงเพื่อป้องกันสัตว์อื่นมากิน เนื่องจากไส้เดือนเป็นอาหารของจิ้งเหลน จิ้งหรีด กิ้งกือ กิ้งก่า เป็นต้น
"ไส้เดือนจำนวน 15 กิโลกรัม ที่นำมาขยายพันธุ์ในบ่อซิเมนต์ทึบอับแสง พบว่าขนาดตัวอ่อนมีความต้องการขยะสดสูงถึง 200 กิโลกรัมต่อ 20 วัน ยิ่งอายุมากและตัวที่โตขึ้นก็ต้องใช้ขยะสดมากขึ้น เพื่อความเหมาะสมกับปริมาณขยะสดในพื้นที่ที่ต้องใช้ไส้เดือนถึง 25 ตันจึงจะสามารถกำจัดขยะสดได้ 50 ตันต่อวัน เทศบาลเราจึงมีโครงการขยายพันธุ์ไส้เดือนด้วยการส่งเสริมพันธุ์ไส้เดือน และถังซิเมนต์บ่อเลี้ยงไส้เดือน ให้ประชาชนในท้องถิ่นและชุมชนเพาะเลี้ยงพันธุ์ไส้เดือนในเชิงพาณิชย์ที่จะได้ประโยชน์ทั้งปุ๋ยน้ำ และปุ๋ยผงชีวภาพ ขณะที่ตัวไส้เดือนยังขายได้ ปัจจุบันราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 400 บาท
นับเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่อีกหลายๆ ชุมชนควรศึกษาและนำไปใช้บ้าง เพราะนอกจากจะสามารถกำจัดขยะสดได้แล้ว ผลพลอยได้ทั้งปุ๋ยและขายไส้เดือนดินจะก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้เลี้ยงด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 15 กรกฎาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/07/15/x_agi_b001_211260.php?news_id=211260