เมื่อวันที่ 14 มกราคม 51
มะเขือเทศ...เป็นพืชผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ซึ่งมีการบริโภคกันทั้งผลสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่อยู่ตามครัวเรือน อย่างเช่นมะเขือเทศเข้มข้น (poste) ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ
ประเทศไทยมีแหล่งผลิตใหญ่ๆคือ จังหวัดหนองคาย นครพนม และขอนแก่น แต่ละปีไทยมีการส่งออก “มะเขือเทศ” ทั้งผลสด ผลิตภัณฑ์แปรรูป และเมล็ดพันธุ์ ไปยังสหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
แต่การส่งออกแต่ละครั้งจะต้อง ผ่านการตรวจสอบโรค แมลงศัตรูพืช เพื่อขอใบรับรองการปลอดภัยจากกรมวิชาการเกษตรก่อน จึงจะผ่านด่านเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของผู้บริโภคได้ และที่สร้างความหวาดให้กับประเทศปลายทางมากที่สุดคือ... “โรคเหี่ยวเหลืองที่เกิดจากเชื้อรา Fusarium oxysporum f. sp. lycopersici (Fol)” โดยโรคที่ว่านี้สามารถ แพร่ระบาดจากการสร้างสปอร์ในดิน แทงทะลุผ่านส่วนพืช เข้าไปแพร่กระจายในลำต้น และเคยสร้างความรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายแก่แหล่งปลูกมะเขือเทศมาแล้วทั่วโลก หลายประเทศจึงเข็ดขยาด
รศ.ดร.วีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริรัตน์ นักวิจัยในศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า เท่าที่ผ่านมา ก่อนส่งออกมะเขือเทศแต่ละครั้ง จะต้องทำการตรวจสอบ race ของเชื้อและการจัดจำแนกเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัย ลักษณะทางสัณฐานวิทยาและความสามารถในการเข้าทำลายพืชอาศัย (Differential host) โดยใช้ระยะเวลาในการรู้ผลประมาณ 60 วัน และเมื่อ พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีเชื้อรา Fusarium oxysporum f. sp. Lycopersici (Fol) ปะปนอยู่ ก็จะถูกกักกันหรือทำลายผลผลิต ไม่สามารถส่งออกเมล็ดพันธุ์ในแปลงนั้นๆได้
แต่กว่าจะรู้ผลว่าสินค้าของตนเองพลาดโอกาสที่จะไปจำหน่ายได้ก็สายเกินการ ซึ่งปัจจัยนี้เป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน ฉะนั้น เพื่อให้มีความรวดเร็วและสามารถป้องกันได้ทันเวลา ทีมวิจัยฯ จึงได้คิดค้นพัฒนา ไพรเมอร์ ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร เพื่อทำการสำรวจตรวจสอบ race ของเชื้อรา Fol ให้รู้ผลอย่างรวดเร็วภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อออกใบรับรองปลอดโรคก่อนการส่งออก ซึ่ง นางสาวมนัสวี ฉายผาด หนึ่งในทีมวิจัยบอกว่า ในการตรวจสอบนั้น ทีมงานจะออกสำรวจดูแปลงผลิตมะเขือเทศของเกษตรกรที่จะส่งออก ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ สกลนคร มหาสารคาม อันเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์
หากพบแปลงที่แสดงอาการหรือคาดว่าจะเกิดโรค ก็จะเก็บตัวอย่างเชื้อจากต้นนั้นนำมาเขี่ยเชื้อบริสุทธิ์ เพื่อนำมาสกัดและเพิ่มปริมาณ DNA ด้วยเทคนิค PCR (polymerize chain reaction) ซึ่งเป็นวิธีการเพิ่มปริมาณ DNA โดยอาศัยหลักการ DNA Replication จาก DNA ต้นแบบในหลอดทดลอง แล้วนำไปทำลายพิมพ์ DNA โดยใช้วิธี ลิเล็กโทรโฟเรซีส ซึ่งสามารถปรากฏผลได้ถูกต้องและแม่นยำ ใช้เวลาน้อยเนื่องจากใช้เทคนิค PCR เพิ่มจำนวนใช้ในการยืนยันผลด้วยเทคนิค DNA fingerprints อีกด้วย
นางสาวมนัสวี บอกถึงจุดเด่นของไพรเมอร์ตรวจสอบ race ของเชื้อรา FOL ทำให้การตรวจสอบกระชับขึ้นจากเดิม ใช้เวลาน้อยกว่า และสามารถตรวจสอบเพียงครั้งเดียวก็ได้ผลในการตรวจที่แม่นยำสูง จึงประหยัดกว่าวิธีการเดิมๆที่จักต้องตรวจสอบกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศรายใดสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 0-4320-2369, 08-9711-8710 e-mail : [email protected]
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 14 มกราคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=75086