เกษตรยึดวิธีทำนาดำและเกษตรอินทรีย์เพิ่มผลผลิตข้าว
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 51
เกษตรยึดวิธีทำนาดำและเกษตรอินทรีย์เพิ่มผลผลิตข้าว
ปรีชา นาแสง เกษตรกร ต.หนองแขม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก นับเป็นเกษตรกรที่ผ่านชีวิตมาอย่างลำบาก ผ่านการใช้ชีวิตมาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งเดินทางไปทำมาหาเลี้ยงชีพที่ต่างประเทศ ไปเป็นช่างที่ประเทศในตะวันออกกลาง ก่อนเดินทางกลับมาปักหลักประกอบอาชีพในประเทศไทยอีกมากมายหลายอย่าง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ก่อนจะหันมาทำธุรกิจขายปุ๋ย ออกเร่ไปบรรยายสรรพคุณเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยในนาข้าว ให้กับเกษตรกรชาวนาได้รับฟังกันและมีคำถามหนึ่งที่โดนใจนั่นคือ “บรรยายเรื่องปุ๋ยเก่งแบบนี้ ทำนาเป็นหรือเปล่า”
นอกเหนือจากคำถามข้างต้นที่ทำให้ต้องมาขบคิดแล้ว จากการที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวคิดกับเกษตรกรมาโดยตลอด แต่กลับพบว่าชาวนาปลูกข้าวได้เกวียนละนับพันนับหมื่นบาท แต่ทำไมชาวนายังถึงยากจนและเป็นหนี้สินกัน ด้วยเหตุผลในสิ่งที่สัมผัสจากเกษตรกร จึงกลายเป็นแรงผลักดัน ที่คิดจะทำนาเพื่อให้รับรู้และเข้าใจถึงปัญหาของการทำนาและเพื่อจะได้เป็นทางออกให้กับชาวนา ประกอบกับเล็งเห็นว่า สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ชาวนาส่วนใหญ่ ประสบกับปัญหาข้าวยากหมากแพง ถ้าหากชาวนาทำนาแล้ว ไม่ประสบผลสำเร็จหรือได้ผลผลิตข้าวน้อย ก็จะเป็นการซ้ำเติมชาวนาเข้าไปอีก จึงคิดว่าจะทำอย่างไรดี ชาวนาถึงจะทำนาแล้ว ได้ผลผลิตมีกำไรและคุ้มค่ากับการทำนามากที่สุด จนสามารถยืนหยัดลืมตาอ้าปากได้ด้วยตัวเอง
จากการลองผิดลองถูกมาในระยะแรก ในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อค้นพบว่า การลดต้นทุนการผลิตในการทำนาและการเพิ่มผลผลิตให้กับนาข้าวอย่างเป็นรูปธรรม ตามปรัชญาที่ว่า การทำนาที่ได้ผลผลิตข้าวสูง ได้ข้าวที่มีคุณภาพดี นาข้าวประสบปัญหาวัชพืชน้อยและลดต้นทุนการผลิต จะทำให้ชาวนาสามารถประกอบอาชีพมีรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการทำนาแบบวิธีดั้งเดิมโบราณ
นั่นคือการทำนาด้วยวิธีการ “ดำนา” และการใช้เกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและจากการทำนาด้วยวิธีนี้ นาข้าวจะให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นด้วย มากกว่านาหว่าน เฉลี่ยต่อไร่ถึงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาวัชพืชน้อย การดูแลรักษาง่าย ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีถึงไร่ละ 500-700 บาทเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนจากการใส่ปุ๋ยเคมีมาใส่ปุ๋ยอินทรีย์ และเพื่อลดเวลาและค่าแรงในการดำนา จึงหันมาใช้วิธีการดำนาด้วยรถดำนา สำหรับขั้นตอนการดำนาด้วยรถดำนา มีขั้นตอนดังนี้
1.ขั้นตอนการทำนาดำด้วยรถดำนา เริ่มจากเกษตรกรเลือกพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี ที่ต้องการจะนำมาเพาะเป็นต้นกล้า จากนั้นแช่เมล็ดในน้ำก่อนเพาะ 1 คืน จากนั้นนำเมล็ดขึ้นจากน้ำ มาบ่มในกระสอบอีก 1 คืน แล้วนำมาเพาะเมล็ดในถาดเพาะกล้า โดยใช้แกลบเผา (ใช้เมล็ดข้าวประมาณ 200-250 กรัม/ถาด) ก่อนนำถาดมาซ้อนกัน เพื่อบ่มให้แทงหน่อประมาณ 1-2 วัน หลังจากนั้นนำถาดเพาะกล้าไปแผ่ในแปลงอนุบาลประมาณ 15-20 วัน แต่ต้องดูแลน้ำให้ดี
2.ขั้นตอนการนำกล้าไปใช้งาน ใช้วิธีม้วนกล้าตามความยาวของถาด (ใช้กล้าที่อายุประมาณ 15-20 วัน) นำใส่รถกระบะเพาะกล้า เพื่อนำไปปักดำ สำหรับการปักดำควรปรับแปลงนาให้ได้ระดับสม่ำเสมอ ตรวจสอบได้โดยหล่อน้ำประมาณ 1 นิ้ว หากน้ำคลุมทั่วดินแปลว่าได้ระดับดี ในกรณีมีหอยเชอรี่ ให้ควบคุมหรือกำจัดโดยยาเคมี หรือกากชาหว่านลงไปในแปลง หรือฉีดพ่น หลังจากหล่อน้ำคลุมดินทันที
3.ขั้นตอนการใส่กล้าในแผงบรรจุของรถดำนา จะต้องปรับระยะความลึก ที่ต้องการประมาณ 2-5 เซนติเมตรและปรับระยะห่างระหว่างกอ 12-28 เซนติเมตร จากนั้นเลือกจำนวนต้นกล้าต่อกอ ประมาณ 3-8 ต้น/กอ ส่วนการปักดำสามารถเลือกความเร็วได้ตามต้องการ
สำหรับรถดำนาแบบนั่งขับ 1 คัน สามารถทำงานได้ประมาณ 2-2.5 ไร่/1 ชั่วโมงและเทียบกับการใช้แรงงานคนประมาณ 60-80 คน ขณะที่เมื่อเทียบจากแรงงานคนทำนาจะได้ประมาณ 15-20 ไร่ต่อวัน
ปัจจุบันเกษตรกรผู้นี้ ได้ซื้อรถดำนา 2 คันและเช่าที่นาอีก 8 ไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่เพาะเลี้ยงต้นกล้าข้าวพันธุ์ดี และว่าจ้างคนงานอีกร่วม 30 คน รับจ้างปักดำนาให้กับเกษตรกรชาวนาทั่วไป นับว่าเป็นความสะดวกอย่างยิ่งยวดเหมาะสำหรับยุคปัจจุบันที่ต้องการความสบายและรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การดำนาแบบใช้แรงงานคนนับว่าเป็นวิถีชีวิตอันดีงามของคนไทย ที่ควรแก่การอนุรักษ์ไว้เช่นกัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 กรกฎาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=170759&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น