เปิด 'นิคมการเกษตร' 5 พืช โซนนิ่งกู้วิกฤติอาหาร-พลังงาน
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 51
เปิด 'นิคมการเกษตร' 5 พืช โซนนิ่งกู้วิกฤติอาหาร-พลังงาน
ปี 2551 นี้ นอกจาก สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะเร่งจัดตั้งนิคมเศรษฐกิจพอเพียงในเขตปฏิรูปที่ดินเพิ่มเติม จำนวน 30 แห่ง จากเดิมที่ได้จัดตั้งไปแล้ว 47 แห่ง ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการที่ดินแนวใหม่ควบคู่กับการสร้างอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้แล้ว ส.ป.ก. ยังมีแผนเร่งจัดตั้ง “นิคมการเกษตรพืชอาหารและพืชพลังงาน” รวม 5 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน นำร่อง 16 นิคมทั่วประเทศ โดยมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการผลิตพืชดังกล่าวอย่างครบวงจร (ZONING) เพื่อให้สอดรับกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2551 ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์รองรับสถานการณ์วิกฤติอาหารโลกและพลังงานที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวถึงการขับเคลื่อนโครงการนิคมการเกษตรพืชอาหารและพืชพลังงานว่า เพื่อรองรับนโยบายปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ปี 2551-2552 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ ส.ป.ก. กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมชลประทาน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งจัดตั้งนิคมการเกษตรฯ จำนวน 16 แห่ง นำร่องในพื้นที่ 15 จังหวัด ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 335,000 ไร่ แยกเป็น นิคมมันสำปะหลังในจังหวัดนครราชสีมา 40,000 ไร่ สระแก้ว 30,000 ไร่ และจันทบุรี 10,000 ไร่
นิคมปาล์มน้ำมันจังหวัดสุราษฎร์ธานี 10,000 ไร่ นครศรีธรรมราช 15,000 ไร่ และปัตตานี 5,000 ไร่ นิคมอ้อยในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร 50,000 ไร่ มุกดาหาร 10,000 ไร่ นิคมข้าวหอมมะลิ และนิคมข้าวในจังหวัดร้อยเอ็ด 35,000 ไร่ สุรินทร์ 40,000 ไร่ นครปฐม 10,000 ไร่ สุพรรณบุรี 10,000 ไร่ ฉะเชิงเทรา 15,000 ไร่ และนครศรีธรรมราช 10,000 ไร่ นิคมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดตาก 15,000 ไร่ และเพชรบูรณ์ 30,000 ไร่ อย่างไรก็ตาม ช่วงปีแรกนี้มีเป้าหมายดำเนินการ 105,000 ไร่ คาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย ใช้งบประมาณดำเนินการ 120 ล้านบาท
นายอนันต์กล่าวด้วยว่า การคัดเลือกพื้นที่จัดตั้งนิคมการเกษตรนี้ เบื้องต้นได้พิจารณาพื้นที่ที่มีฐานการผลิตอยู่เดิม ประมาณ 70% ขณะเดียวกันยังต้องมีศักยภาพและความพร้อมของระบบชลประทาน มีคุณภาพดินที่เหมาะสมกว่า 70% ทั้งยังต้องมีศักยภาพที่จะดำเนินการจัดรูปที่ดินและปรับโครงสร้างพื้นฐานทั้งแหล่งน้ำและคุณภาพดินเพื่อรองรับการสร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ ซึ่งภาครัฐ ท้องถิ่น เกษตรกร และภาคเอกชน จะร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินงานในแต่ละนิคมให้เป็นรูปแบบ (Model) ครบวงจร โดยต้องมีขนาดพื้นที่ที่เหมาะสมและคุ้มทุน เช่น นิคมผลิตข้าวต้องมีศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี มีโรงสี มีลานตาก มีระบบการจัดการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อดำเนินธุรกิจ ตลอดจนมีแหล่งจำหน่ายด้วย
สำหรับทิศทางการพัฒนาพื้นที่นิคม มุ่งให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้โดยจะส่งเสริมวิธีคิดและการบริหารจัดการแบบผสมผสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเพื่อบริโภคและการผลิตเพื่อลดรายจ่าย รวมทั้งจัดกระบวนการผลิตที่สามารถช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลง ขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาการพึ่งพาตลาดโดยใช้รูปแบบการตลาดนำการผลิต ภายใต้ความร่วมมือข้อตกลงไตรภาคี
พร้อมกันนี้ยังจะพัฒนากลไกการรวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ เน้นให้สมาชิกผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูปและการบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน พัฒนาธุรกิจรวบรวมผลผลิต เชื่อมโยงเข้าสู่อุตสาหกรรมการเกษตร และยังจะสนับสนุนระบบการขนส่งสินค้าให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น
เบื้องต้นคาดว่าเกษตรกรจะได้รับการเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่า 20% ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าว่าจะมีการเพิ่มพื้นที่ผลิตพืชหลักในนิคมการเกษตรได้อีก 20% ของพื้นที่การผลิตเดิม และเกษตรกรกว่า 70% จะมีการบริหารจัดการผลิตที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และอนาคตคาดว่า พื้นที่นิคมการเกษตรจะช่วยสร้างความสมดุลและสร้างภูมิคุ้มกันภาคเกษตรให้แก่เศรษฐกิจของไทย พร้อมเพิ่มปริมาณการผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานรองรับความต้องการอาหารและพลังงานของโลกที่กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 กรกฎาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=170758&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น