เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 51
ส่วนที่มีการพูดถึงก็ยังมองต่างมุม คือฝ่ายหนึ่งมองว่า ในยุคที่ปุ๋ย สารเคมีราคาแพง ทางออกต้องทำนาที่ได้ผลผลิตสูง จึงจะสมดุลกัน ปีนี้โชคดีที่ราคาข้าวสูงขึ้นหากข้าวราคาตกต่ำอย่างเมื่อปีก่อนๆ โน้น ชาวนามีแต่หนี้กับหนี้เท่านั้น
ที่สำคัญในห้วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ได้เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารในหลายประเทศทั่วโลก รวมไปถึงข้าว และวงการอาหารสัตว์ด้วย เนื่องเพราะมีความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลให้วัตถุดิบที่มาจากภาคเกษตรไม่สามารถที่จะปลูกได้ เกษตรกรที่มองในจุดนี้ก็ให้ความสนใจกับพันธุ์ข้าวลูกผสมขึ้นมา
ขณะที่ฝ่ายหนึ่งมีการมองว่า ข้าวลูกผสมอีกหนึ่งคือ เป็นมหันตภัยตัวใหม่ เอื้อต่อนายทุนที่จะไปขูดรีดกับชาวนา เพราะว่าข้าวลูกผสมไม่สามารถที่จะเอาเมล็ดมาทำเป็นเมล็ดพันธุ์ได้ ฉะนั้นชาวนาจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากนายทุนสถานเดียว บางคนล้ำเส้นมองไปไกล หาว่าข้าวลูกผสมป็นพันธุ์ข้าวที่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุวิศวกรรม หรือจีเอ็มโอ อะไรทำนองนั้น
อ.มนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วมกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) บอกว่า ทุกวันนี้อาจจะยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องของพันธุ์ข้าวลูกผสม และการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตข้าวไม่ใช่เรื่องที่จะผูกขาด แต่การพัฒนาให้วงการเกษตรกรเพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน
อ.มนตรีย้อนประสบการณ์การทำธุรกิจข้าวโพดลูกผสมที่หลายๆ บริษัท ได้ดำเนินการรวมทั้งเครือซีพีด้วย ตอนนี้ได้ประจักษ์แล้วว่าคุณสมบัติที่โดดเด่นและให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นจนสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้แก่เกษตรกร จนทุกวันนี้เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจได้เองที่จะเลือกใช้พันธุ์ข้าวโพดลูกผสม 100% ที่สำคัญข้าวโพดอาหารสัตว์ที่ปลูกในบ้านเราทุกวันนี้ที่มีพอเพียงกับความต้องการ ก็มาจากสายพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมทั้งสิ้น ถ้าเกษตรกรไม่รู้จักกับพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม วันนี้อาหารสัตว์จะพบกับวิกฤติขั้นรุนแรงอย่างแน่นอน
พันธุ์ข้าวลูกผสมวันนี้ก็เช่นเดียวกัน จากสภาพอากาศแปรปรวนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ส่งผลกระทบต่อสภาพพื้นที่การเพาะปลูกพืชทั่วโลก จนเกิดภาวะขาดแคลนอาหารมากขึ้น ตรงนี้ซีพีจึงเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาข้าวลูกผสมจนประสบความสำเร็จ แต่กระนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา ทุนวิจัยและบุคลากรจำนวนมาก เพื่อตรวจสอบสายพันธุ์และคัดเลือกลักษณะเฉพาะที่ดีที่สุดจากสายพันธุ์พันๆ คู่ แล้วนำมาทดสอบในแปลงวิจัยซึ่งสามารถให้ผลผลิตได้ถึง 1,700 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกในแปลงเกษตรกรได้ผลผลิต 1,500 กิโลกรัมต่อไร่
กระนั้นแม้การใช้พันธุ์ข้าวลูกผสมจะก่อให้เกิดผลดีต่อการผลิตข้าวในเมืองไทย และส่งผลดีต่อการยกระดับรายได้ให้แก่ชาวนา แต่ทั้งขึ้นอยู่กับเกษตรกรเองว่า ควรเลือกพันธุ์ข้าวแบบไหน ส่วนพันธุ์ลูกผสมก็เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้นเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 23 กรกฎาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/07/23/x_agi_b001_212537.php?news_id=212537