พัฒนาสายพันธุ์ ทางรอดอุตสาหกรรมกุ้งไทย
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 51
พัฒนาสายพันธุ์ ทางรอดอุตสาหกรรมกุ้งไทย
ความเติบโตของอุตสาหกรรมกุ้งไทยที่สามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้นำ ทั้งด้านผลิต และส่งออกของโลก สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาของอุตสาหกรรมนี้ได้เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่า การทำเกษตรในปัจจุบัน ถ้าหากจะหวังพึ่งพาธรรมชาติเหมือนอย่างในอดีต ก็จะประสบกับปัญหาหลายอย่างตามมา ซึ่งในอุตสาห กรรมกุ้งไทยได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาแก้ปัญหาต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้วันนี้กุ้งไทยกลายเป็นที่หนึ่งในเวทีโลก
ในงานสัมมนาพิเศษเรื่อง “การพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทย” ที่คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชิงชัย โลหะวัฒนะกุล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำระดับโลก และเป็นผู้ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของไทยให้ก้าวหน้าสู่ระดับโลก กล่าวว่า ความสำเร็จในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ของซีพี ได้กลายเป็นหลักการสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ในเวลาต่อมา ซึ่งการจะเลี้ยงสัตว์ให้ประสบความสำเร็จได้ ก็ต้องมีพันธุกรรมที่ดี อาหารดี และการจัดการดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันโรค
ประเทศไทยได้ศึกษาบทเรียนจากหลายประเทศผู้ผลิตกุ้ง ทำให้รูปแบบการเลี้ยงกุ้งของไทย หันมาเน้นแบบป้องกันโรคเป็นหลัก เพราะเคยมีประสบการณ์โรคหัวเหลืองระบาด ก็ใช้ระบบไบโอซีเคียว (Bio-secure system) มาป้องกัน พอเกิดโรคจุดขาวระบาดในปี 1994 จึงเสียหายไม่มาก นอกจากนี้ยังได้พัฒนาพันธุ์กุ้ง จากเดิมเคยเลี้ยงกุ้งกุลาดำซึ่งมีความยุ่งยาก พอพันธุ์กุ้งขาวเข้ามา เมื่อ 4-5 ปี ก่อน ผู้เลี้ยงกุ้งจึงเปลี่ยนไปเลี้ยงกุ้งขาวมากถึง 99%
ในปี 1996 ประเทศไทยเลี้ยงกุ้งเป็นที่ 1 ของโลก แต่เนื่องจากเป็นการเลี้ยงแบบดั้งเดิม ทำให้ถูกโจมตีจากต่างประเทศในที่ประชุมสหประชาชาติว่า อุตสาหกรรมกุ้งไทยทำลายป่าชายเลน โชคดีที่ WAS-World Aquaculture Society ที่ซีแอตเติล ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องไปประชุมกัน ทางรัฐบาลไทยโดยอธิบดีกรมประมง รวมทั้งนักวิชาการหลายท่านได้ไปให้ข้อมูลโต้แย้ง หลังจากนั้นประเทศไทยได้พัฒนาการเลี้ยงกุ้งแบบที่ต้องใช้พื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2-3 เมตร ปัญหานี้จึงหมดไป
การเลี้ยงกุ้งในไทยทุกวันนี้มีพัฒนาการอย่างมาก โดย นสพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ รองกรรมการผู้จัดการบริหารสายงานวิจัยและพัฒนาสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ บอกว่า การเลี้ยงกุ้งจะมีความยั่งยืนได้ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความแข็งแรง ซึ่งวันนี้สามารถพัฒนาพันธุ์จนได้พันธุ์กุ้งขาวที่ไม่มีโรคที่ทำลายการเลี้ยง และสามารถผลิตได้อย่างเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องนำเข้าพันธุ์กุ้งจากต่างประเทศ ทางด้านอาหารก็ได้รับการพัฒนาให้มีอัตราแลกเนื้อ (FCR) ที่สูงขึ้น
ขณะเดียวกัน ระบบการเลี้ยงกุ้งก็เป็นการเลี้ยงกุ้งแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่นอกจากจะไม่รบกวนป่าชายเลนแล้ว ยังใช้จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์มาจัดการกับจุลินทรีย์ ที่ไม่มีประโยชน์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารปฏิชีวนะใด ๆ หรือที่เรียกว่า โปรไบโอติกฟาร์มมิ่ง (Pro-biotic Far ming) ควบคู่ไปกับการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด หรือระบบไบโอซีเคียว (Bio-Secure system) จนสามารถผลิตกุ้งได้ตามมาตรฐานสากล สร้างความมั่นใจให้กับภาคผู้ส่งออกและประเทศคู่ค้า ด้วยการเน้นหลักความปลอดภัยในอาหาร (Food safety) และทุกวันนี้กุ้งไทยได้รับการยอมรับในมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ (Tracea bility) คือสามารถตรวจย้อนกลับตั้งแต่โรงงานแปรรูป บ่อเลี้ยง ลูกกุ้ง ไปจนกระทั่งถึงต้นตอที่พ่อแม่พันธุ์ได้เลย
ด้วยเทคนิควิชาการ ตลอดจนงานวิจัยที่มีการศึกษาพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่องนี้เอง ทำให้จนถึงวันนี้ประเทศไทยก็ยังคงความเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกกุ้งของโลกซึ่งช่วยสร้างรายได้มูลค่ามหาศาลกลับเข้าสู่ประเทศ
ที่สำคัญ อุตสาหกรรมนี้ยังช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้คนทั้งระบบไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคนอีกด้วย เรียกได้ว่าอุตสาหกรรมกุ้งของไทยวันนี้ พัฒนาตัวเองมาจนยืนอยู่ในแถวหน้าของโลกได้อย่างภาคภูมิ ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 กรกฎาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=171022&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น