'สิรินธรวัลลี' ปลูกง่ายสวยงาม มีสรรพคุณ เป็นยาสมุนไพรไทย
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 51
'สิรินธรวัลลี' ปลูกง่ายสวยงาม มีสรรพคุณ เป็นยาสมุนไพรไทย
สิรินธรวัลลีเป็นไม้เลื้อยมีมือเกาะ ลำต้นทอดยาวได้ 10-20 เมตร กิ่งอ่อน และช่อดอกมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมหนาแน่น กิ่งแก่เกลี้ยง ใบเดี่ยวรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือ หยักเว้าเล็กน้อยหรือแยกผ่าลึกถึงฐานใบ ช่อดอกเป็นกระจุกซ้อนกันแน่น ดอกมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงคล้ายห่อกาบ มีแยกเป็นแฉกตามยาว 1-2 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลืองหรือส้มแดง ผลเป็นฝักแก่แล้วแตก เมล็ดแบน
เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ออกดอกและติดผลประมาณเดือนมิถุนายน-กันยายน เมื่อปี พ.ศ. 2538 ดร.ชวลิต นิยมธรรม และคณะได้พบต้นเสี้ยวที่บริเวณชายป่าดิบแล้งบนเทือกเขาในจังหวัดหนองคาย หลังจากทำการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าเสี้ยวดังกล่าวไม่มีลักษณะที่คล้ายหรือใกล้เคียงกับเสี้ยวอื่น ๆ ที่เคยมีรายงานมาก่อน กระทั่งต่อมาเมื่อ ศ.ไค ลาร์เซน (Kai Larsen) ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้ชาวเดนมาร์กเดินทางมาตรวจสอบพันธุ์ไม้ ณ กรมป่าไม้ ดร.ชวลิต จึงส่งมอบเสี้ยวที่เก็บมาให้ตรวจสอบอย่างละเอียด ผลปรากฏว่าเสี้ยวดังกล่าวเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก
ลักษณะเด่นคือมีกลีบเลี้ยงห่อคล้ายกาบ ซึ่งมีลักษณะที่ไม่เคยพบมาก่อนในกลุ่มสกุลย่อย Phanera การห่อตัวของกลีบเลี้ยงนี้เองที่บังคับให้กลีบดอกไม่สามารถกางออกได้เต็มที่เมื่อดอกบาน ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างจากเสี้ยวอื่น ๆ กรมป่าไม้ จึงขอพระราชทานพระราชานุญาต ใช้พระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเทิดพระนามพระองค์ท่านที่ทรงสนพระทัย และให้การสนับสนุนงานทางพฤกษศาสตร์ตลอดมา โดยใช้ชื่อ Bauhinia sirindhorniae K.& S.S. Larsen หรือ สิรินธรวัลลี อันหมายถึง วัลยชาติแห่งองค์สมเด็จพระเทพฯ นั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 คณะนักพฤกษศาสตร์จากสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ได้สำรวจพรรณพืชบริเวณเทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร และพบสิรินธรวัลลีเข้าโดยบังเอิญ ในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของพืชหายากชนิดนี้เพิ่มขึ้นอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งขณะนี้ทางสวนพฤกษศาสตร์ฯ ได้เพาะขยายพันธุ์สิรินธรวัลลีจนมีปริมาณเพิ่มขึ้น อันจะเป็นหลักประกันว่าพืชหายากชนิดนี้จะยังคงอยู่เมืองไทยตลอดไป
ที่สำคัญพืชชนิดนี้มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรไทย เมื่อนำมาตากแห้งแล้วนำไปต้มจะแก้ปวดตามข้อ ตามเส้นเอ็น ถ้านำดอกมาตากแห้ง แล้วนำไปปนกับน้ำใช้ทาสำหรับรักษาฝีหนอง ใช้บำรุงรักษาระบบประสาท สมองและการไหลเวียนของโลหิตในร่างกาย ป้องกันโรคความดันและโรคเบาหวานเมื่อนำไปเข้ากับสมุนไพรตัวอื่น
นับเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางสมุนไพรไทย นอกจากนี้ยังเป็นไม้มงคล เหมาะสำหรับปลูกไว้ในบ้านเรือน สถานที่ราชการ ข้างถนนหนทาง หมู่บ้าน เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกง่ายเจริญเติบโตเร็ว เมื่อออกดอกจะมีดอกสีส้มปนแดง เป็นพวงระย้าสวยงาม โดยจะออกดอกในช่วงปลายฤดูฝนเป็นต้นไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 กรกฎาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=171130&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น