เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 51
ท่ามกลางวิกฤติการณ์ด้านพลังงานที่เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ หลายประเทศต่างหามาตรการประหยัดพลังงาน รวมทั้งแสวงหาพืชพลังงานทดแทน เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ
เช่นเดียวกับรัฐบาลไทย ภายใต้การบริหารงานของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี โดยมีการผลักดันเรื่องพลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ และล่าสุดมีการผลักดันเรื่องพลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งอาเซียน
ในขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาการผลิตอ้อยและมันสำปะหลังอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการเดินสายจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติเรื่อง "ยุทธศาสตร์การพัฒนาพืชทดแทนพลังงาน" ตามภูมิภาคต่างๆ รวม 9 จังหวัด ทั้งภาคอีสาน และภาคกลาง เพื่อชี้แจง สร้างความเข้าใจ และถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรในการเพิ่มผลผลิตอ้อยและมันสำปะหลัง
กลางเวทีการประชุมสัมมนาที่มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น นายธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศขึ้นกลางเวทีว่า "จะผลักดันให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นโอเปก 2 แหล่งพืชพลังงานของโลก รองจากประเทศบราซิล" ท่ามกลางเกษตรกรชาว จ.ขอนแก่น กว่า 1,500 คน โดยให้เหตุผลว่า "ภาคอีสานมีศักยภาพในการผลิตอ้อยและมันสำปะหลังในระดับสูง และพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ก็เป็นเป้าหมายสำคัญที่จะนำมาใช้ผลิตเอทานอลทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
"ไทยเป็นผู้ผลิตอ้อยและมันสำปะหลังรายใหญ่ ขณะที่ประเทศบราซิลซึ่งเจริญรุ่งเรืองมากในด้านพืชพลังงานทดแลนและส่งไปจำหน่ายทั่วโลก โดยเฉพาะการผลิตเอทานอล ซึ่งประเทศบราซิลสามารถปลูกอ้อยได้ปีละ 300 ตัน โดยเป็นการบริโภคในประเทศเพียง 60 ตัน ที่เหลือนำมาทำเป็นเอทานอล ส่วนไทยผมมองว่าน่าจะเป็นประเทศที่ 2 รองจากบราซิล เพราะประเทศอื่นไม่ได้ส่งเสริมกันอย่างเต็มที่ อีกทั้งพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชดังกล่าว" นายธีระชัยกล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงาน
เปิดแผนส่งเสริมจาก "ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ"
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงแผนการดำเนินงานเกี่ยวกับพืชพลังงานว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะส่งเสริมเรื่องพืชพลังงาน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เองก็ได้เดินหน้าขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการผลิตอ้อยและมันสำปะหลังอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการผลิตและส่งเสริมการใช้เอทานอลเป็นพลังงานทดแทน จัดทำแผนการผลิตวัตถุดิบเพื่อยกระดับผลผลิตของเกษตรกร แผนการผลิตเอทานอล แผนการส่งเสริมการใช้เอทานอลเป็นพลังงานทดแทนอย่างครบวงจร
แผนการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ ในภาคต้นน้ำคือ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ขณะนี้มีต้นพันธุ์อ้อยประมาณ 6.5 ล้านท่อนที่จะนำมาทำเป็นแปลงพันธุ์ได้ประมาณ 10,000 ไร่ และจะกระจายไปตามศูนย์วิจัยต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อขยายพันธุ์สำหรับให้เกษตรกรนำไปปลูก
ส่วนในภาคกลางน้ำ คือโรงงานผู้ผลิตเอทานอลที่ปัจจุบันมีภาคเอกชนยื่นขออนุญาตตั้งโรงงานไปแล้ว 45 แห่ง แต่สามารถเดินเครื่องผลิตได้เพียง 10 แห่งเท่านั้น ส่วนอีก 10 โรงอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโรงงาน ซึ่งภายหลังจากที่กระทรวงจัดสัมมนาทั่วทุกภูมิภาคเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชพลังงาน และจะแจกพันธุ์อ้อย พันธุ์มันให้เกษตรกรนำไปปลูก ซึ่งจากมาตรการดังกล่าวเชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการโรงงานในการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล
ภาคปลายน้ำก็คือ สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน ว่าในอนาคตนี้จะมีเอทานอลเพียงพอในการผลิตแก๊สโซฮอล์แน่นอน ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการเกิดความเชื่อมั่นแล้วก็จะมีการขยายปั๊มน้ำมันเพื่อรองรับแก๊สโซฮอล์อี หรือหากในช่วงแรกมีปริมาณเอทานอลล้นเกินความต้องการ กระทรวงการคลังก็อาจจะสนับสนุนทางด้านภาษี ด้วยการปรับลดภาษีส่งออกเพื่อให้สามารถส่งออกเอทานอลไปจำหน่ายยังต่างประเทศในระหว่างที่มีการส่งเสริมการผลิตเอทานอล
ย้ำไม่แย่งพื้นที่ปลูกพืชอาหาร
นายธีระชัยยังเน้นย้ำว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาพืชทดแทนพลังงานนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่ออาหารอย่างแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยผลิตพืชเพื่อป้อนอุตสาหกรรมอาหารอย่างเพียงพอแล้ว เมื่อเกินความต้องการจะมีการส่งออก ขณะเดียวกันการส่งเสริมเกษตรกรในการปลูกมันสำปะหลังและอ้อยนั้น จะไม่ไปแย่งพื้นที่ในการปลูกพืชอย่างอื่นแน่นอน เพราะมันกับอ้อยเหมาะสำหรับพื้นที่ราบสูง ส่วนในที่ราบลุ่มก็เหมาะแก่การปลูกข้าว เช่น ทุ่งกุลาร้องไห้ มันและอ้อยไม่เหมาะต่อการปลูก ซึ่งพื้นที่ปลูกก็ชัดเจนอยู่แล้ว
"นโยบายของกระทรวงคือจะไม่ขยายพื้นที่ปลูก แต่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่แทนเพื่อให้เพียงพอสำหรับการบริโภคและการผลิตเอทานอล โดยที่เกษตรกรจะได้รับการส่งเสริมในเรื่องพันธุ์อ้อยและมัน ที่ดีจากกรมวิชาการเกษตร" นายธีระชัยกล่าวทิ้งท้าย
ชี้พื้นที่ขอนแก่นเหมาะปลูกมัน
เพียงเพ็ญ ศรวัต นักวิชาการ 8 ว. ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น เปิดเผยถึงสถานการณ์การปลูกอ้อยในปัจจุบันว่า อ้อยมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 6.4 ล้านไร่ ให้ผลผลิตจำนวน 73.2 ล้านตัน คิดเป็นผลผลิตโดยเฉลี่ย 10.9 ตันต่อไร่ สามารถผลิตเป็นน้ำตาลได้ 7.2 ล้านตัน ส่วนกากน้ำตาลจะได้ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี
ส่วนมันสำปะหลังมีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 7.4 ล้านไร่ ผลผลิต 27 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 3.7 ตันต่อไร่ โดยปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นอันดับ 1 ของโลก ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกได้แก่ มันเส้น และมันอัดเม็ด ตลาดส่งออกได้แก่ สหภาพยุโรป และจีน
ทั้งนี้พันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมต่อพื้นที่ปลูกใน จ.ขอนแก่น ได้แก่ ระยอง 5 ระยอง 7 ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 90 ระยอง 9 ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ย 8.4 ตัน-12 ตันต่อไร่ และเปอร์เซ็นต์แป้งสูงโดยเฉลี่ย 28.31%
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 28 กรกฎาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/07/28/x_agi_b001_213248.php?news_id=213248