วช.วิจัยไม้ดอกไม้ประดับรับส่งออก
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 51
วช.วิจัยไม้ดอกไม้ประดับรับส่งออก
ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายด้านพันธุกรรมพืชจำนวนมาก ซึ่งความสมบูรณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศไทยมีไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายชนิด เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยในปี 2547 ไทยมีการส่งออกไม้ดอกไม้ประดับ คิดเป็นมูลค่า 3,034.4 ล้านบาท และเพิ่มมากขึ้นในปี พ.ศ.2550 โดยเฉพาะกล้วยไม้ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดถึง 2,322 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
ศ.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เผยว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและเล็งเห็นถึงศักยภาพการผลิตไม้ดอกไม้ประดับของไทย จึงให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน และขณะนี้ผลการวิจัยได้สำเร็จในระดับที่จะสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการนำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงต้องเผยแพร่องค์ความรู้ ที่ได้สู่เกษตรกร องค์กรภาครัฐและเอกชน สำหรับนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
สำหรับไม้ดอกไม้ประดับที่ วช.ให้การสนันสนุนมีหลากหลาย เช่น ดอกปทุมมา ที่นักวิจัยปรับปรุงพันธุ์ ให้ออกดอกได้ทุกฤดูกาล ซึ่งสามารถรองรับการขยายตัวของไม้ดอกชนิดนี้มากขึ้น ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต และมีแผนจะพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความสวยงามมากขึ้น รวมไปถึงการเผยแพร่ความรู้ให้เกษตรกรในการเพาะปลูกเพื่อเป็นการสร้างรายได้แก่เกษตรกร โดยจะต้องทำการตลาดส่งออกดอกปทุมมาอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้ยอดส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา
รศ.ธัญญะ เตชะศีลพิทักษ์ นักวิจัย จากคณะเกษตร มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับของประเทศไทยจำเป็นต้องวิจัยไปสู่การผลิตที่ขายได้ ต้องมองถึงตลาด โดยเฉพาะตลาดภูมิภาค ทั้งนี้ปทุมมาที่พัฒนาขึ้นมาจะต้องมีสีสันที่ตรงตามความต้องการของตลาด และขยายพันธุ์ได้เร็ว มีการคัดเลือกพันธุ์หรือการผสมพันธุ์เพื่อนำลักษณะที่ดี ลักษณะเด่นมาผลิตเป็นการค้า ตลอดจนนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้ รวมทั้งการทำตลาดการค้าในและนอกประเทศหรือการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืช มิเช่นนั้นเกษตรกรหรือผู้ผลิตเพื่อการส่งออก จะหมดกำลังใจในการพัฒนาและผลิตสายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับตัวใหม่ออกสู่ตลาด
นอกจากนี้ต้องเน้นพืชเขตร้อนและกึ่งร้อน โดยเฉพาะการพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับพันธุ์พื้นบ้าน เช่น ปทุมมา ซึ่งเป็นพืชเมืองร้อนและมีความหลายหลาย โดยทั่วโลกมีพืชสกุลปทุมมาประมาณ 70 ชนิด สำหรับประเทศไทยมีพืชสกุลนี้ประมาณ 30-40 ชนิด นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้นานาพันธุ์ เช่น กล้วยไม้ช้างกระ กล้วยไม้ดินใบหมาก เป็นต้น ซึ่งกล้วยไม้ช้างกระสามารถพัฒนาเป็นชุดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกลิ่นดอกกล้วยไม้ช้างกระได้
หากเรามีการพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายชนิด ไทยจะได้เปรียบต่างชาติหลายอย่าง เพราะสถานการณ์ของอุตสาหกรรมไม้ดอกยุโรปในขณะนี้ พบว่า จำนวนเกษตรกรลดลง เพราะต้นทุนในด้านค่าแรง ค่าลงทุนสูง บริษัทที่ทำการเพาะปลูกไม้ดอกไม้ประดับมีการจัดการแบบมืออาชีพ แต่งานหลักจะเน้นด้านการปรับปรุงพันธุ์ ดังนั้นไทยต้องหาแหล่งผลิตสินค้าคือประเทศคู่ค้าหรือประเทศร่วมทุนที่มีแรงงานถูก แรงงานมีฝีมือ ระบบขนส่งที่ดี และการเมืองที่มั่นคง
การสนับสนุนงานวิจัยไม้ดอกไม้ประดับ จะทำให้เกิดทางเลือกในการพัฒนาพืชเพื่อการส่งออกให้กับภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีความสนใจในไม้ดอกไม้ประดับสูงขึ้น โดยเฉพาะกล้วยไม้ซึ่งเป็นไม้ดอกส่งออกที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยจำนวนหลายล้านบาท และขณะนี้รัฐบาลมีเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถส่งออกกล้วยไม้ให้ได้มูลค่า 10,000 ล้านบาทในปี 2555 รวมทั้งให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตกล้วยไม้เขตร้อนของโลก และเป็นจุดดึงดูดการท่องเที่ยว
จึงนับได้ว่าตลาดไม้ดอกไม้ประดับเป็นตลาดที่น่าสนใจ และต้องให้ความสำคัญและสนับสนุนงบประมาณในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งต้องอาศัยนักวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อนำไปต่อยอดสู่ การผลิตสำเร็จรูปแบบอื่นๆ อาทิ เครื่องสำอาง เครื่องหอมต่างๆ เป็นต้น โดย วช. พร้อมที่จะสนับสนุนการนำผลงานของนักวิจัยมาเผยแพร่ให้สาธารณชนทราบมาก ซึ่งจะทำให้เกิดการกระตุ้นให้มีความคิดใหม่ๆ ทั้งการพัฒนาคุณภาพ การเปิดตลาดส่งออก คาดว่า ในอนาคตอันใกล้จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ทำจากไม้ดอกไม้ประดับสู่ตลาดโลก
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 28 กรกฎาคม 2551
http://www.naewna.com/news.asp?ID=115411
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น