เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 51
เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนนี้ราคาปุ๋ยยังไม่ได้สูงมากเหมือนวันนี้ ก็เลยทำให้หลายคนยังไม่ค่อยสนใจเพราะยังถือว่ารายได้จากการขายผลไม้ค่อนข้างสูง จึงไม่ค่อยกังวลเรื่องการหาปุ๋ยมาใส่ต้นไม้ แต่เมื่อราคาผลไม้ตกต่ำลงประกอบกับราคาปุ๋ยแพงขึ้น หากไม่คิดจะลดต้นทุนก็คงไม่สามารถอยู่ได้แน่นอน
ในการทำสวนไม้ผลค่าใช้จ่ายมากกว่า 25% เป็นค่าปุ๋ย แต่ที่ผ่านมาการให้ปุ๋ยสำหรับไม้ผลในดินทุกชนิดของไทยยังไม่ค่อยได้ใช้หลักวิชาการมากเท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะแนะนำสูตรปุ๋ยที่มีไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมในปริมาณเท่าๆ กัน เช่นสูตร 15-15-15 เพียงแต่ว่าอัตราการใส่แตกต่างกันไปบ้าง ทั้งๆ ที่ความต้องการธาตุอาหารของไม้ผลแต่ละอย่างในดินแต่ละชนิด ไม่ได้เท่ากันหรือเหมือนกัน ทำให้การใช้ปุ๋ยไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร หมายความว่าหลายกรณีเราใส่ปุ๋ยเกินความต้องการหรือไม่เป็นไปตามที่ต้นไม้อยากได้ จึงเสียเงินโดยใช่เหตุ
สกว.สนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับการให้ปุ๋ยในไม้ผลหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นมะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน มังคุด และอื่นๆ อีกมาก จนได้ข้อมูลที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น จากการศึกษาวิจัยภายใต้ชุดโครงการ “ศึกษาความต้องการธาตุอาหาร การจัดการธาตุอาหาร และการวิเคราะห์ดินและพืช ในสวนมังคุด และสวนทุเรียน” ที่ได้ทำมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 โดยมีหัวหน้าโครงการคือ รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
โครงการนี้ทำในสวนมังคุดและสวนทุเรียนใน จ.จันทบุรี ระยอง และตราด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบว่ามีการใช้ปุ๋ยในปริมาณสูงเกินความจำเป็นและเป็นพื้นที่ที่ผลิตไม้ผลเป็นการค้าแหล่งใหญ่ โดยเก็บตัวอย่างดินจำนวนมากกว่า 1,500 ตัวอย่าง มาวิเคราะห์ธาตุอาหาร ผลก็คือพบว่าตัวอย่างดินในสวนต่างๆ จำนวนมากกว่า 60% มีปริมาณธาตุฟอสฟอรัส (P) สะสมในดินอยู่เป็นจำนวนมากเกินความจำเป็น โดยสวนบางแห่งมีปริมาณธาตุฟอสฟอรัสสูงถึง 2,000 ส่วนต่อล้าน ในขณะที่ปริมาณธาตุฟอสฟอรัสที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการเติบโตของต้นไม้อยู่ระหว่าง 20-30 ส่วนต่อล้าน เท่านั้น
ทั้งนี้เพราะความเชื่อเดิมของชาวสวนที่เชื่อสืบทอดต่อๆ กันมาช้านานว่าปุ๋ยฟอสฟอรัส เป็นปุ๋ยสำหรับเร่งดอก หากใส่ในปริมาณมากๆ จะทำให้พืชออกดอกมากขึ้นและเร็วขึ้น ซึ่งความจริงไม่ใช่เช่นนั้น จริงอยู่ที่ว่าปริมาณธาตุฟอสฟอรัสที่สะสมมากมายอยู่ในดินถึงแม้จะไม่มีผลเสียโดยตรงกับพืช แต่มีผลในทางอ้อมคือทำให้พืชขาดจุลธาตุอื่นๆ เช่น เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังกะสี (Zn) ผลก็คือการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืชไม่ดีเท่าที่ควร และที่สำคัญที่สุดคือเสียเงินค่าปุ๋ยไปโดยเปล่าประโยชน์ แถมยังต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเพิ่มปริมาณการใช้จุลธาตุเหล่านี้ตามมา
จากผลการศึกษาและการถ่ายทอดแนวทางการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินดังกล่าว โดยผ่านการแนะนำและอบรมให้แก่เกษตรกรผู้ทำสวนมังคุด ทุเรียน และสวนสละใน จ.จันทบุรี พบว่าในทุกสวนมีการให้ผลผลิตที่ดีขึ้นถึงแม้จะลดการใช้ปุ๋ยลงมากก็ตาม ทำให้ชาวสวนประหยัดค่าปุ๋ยเป็นจำนวนเงินหลายแสนบาทต่อปี เพียงแค่ให้มีการวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในดินภายในสวนก่อน ก็จะสามารถจัดการปรับปรุงดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช และปริมาณของผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ซึ่งทำให้ชาวสวนสามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยได้อย่างมาก โดยที่ผลผลิตไม่ลดลง
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 28 กรกฎาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/07/28/x_agi_b001_213247.php?news_id=213247