เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 51
“กล้วยหอมทอง” เป็นผลไม้ในกลุ่มที่มีอายุการเก็บรักษาสั้นและมีอัตราการเกิดปฏิกิริยา ชีวเคมีสูง แม้ว่าจะปลิดหรือตัดออกจากขั้วหวีแล้ว ในระหว่างการเก็บรักษาจะเกิดจากการหายใจของผลไม้อยู่
ทำให้มีก๊าซ “เอทธิลีน” ขึ้นภายในผลอันเป็น สาเหตุทำให้ผลิตผลสุกเร็ว ผิวช้ำง่าย ที่สำคัญยัง ก่อให้เกิดโรค หรือ การเข้าทำลายเชื้อ Collectrotrichum sp. ที่ขั้วผลไม้
ตามกฎหมายกักกันพืชของแต่ละประเทศ จะไม่อนุญาตให้ผลิตผลที่สุกแล้วส่งเข้าไปขาย
อาจารย์สุพัฒน์ คำไทย ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงทำการวิจัย “พัฒนาคุณสมบัติกระดาษดูดซับเอทธิลีนและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา เพื่อยืดอายุการเก็บผลไม้” โดยการสนับสนุนทุนฯจาก โครงการ IRPUS กระทรวงวิทยาศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
อาจารย์สุพัฒน์ บอกว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวิจัยการยืดอายุ การเก็บรักษากล้วยหอม ทำให้ ทราบถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบอายุการเก็บรักษาสามารถสรุปได้ 2 กรณีคือ ก๊าซเอทธิลีนที่เร่งให้เกิดการสุก กับ เชื้อราระบาดเข้าทำลาย
ดังนั้น หากพัฒนาคุณสมบัติกระดาษเพื่อใช้ห่อ มั่นใจว่าสามารถยืดอายุการเก็บได้นานขึ้น จึงเริ่มทำการผลิตกระดาษที่มีคุณสมบัติ ช่วยดูดซับเอทธิลีนและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยใช้เทคนิคเดียวกับการทำกระดาษสาแบบแตะ ด้วยการ นำเยื่อยูคาลิปตัสมาปั่นผสมกับ ผงถ่านกัมมันต์ และ สารยับยั้งเชื้อรา ในอัตราส่วนที่เหมาะสม นำขึ้นรูปบนตะแกรงตากให้แห้ง จะได้กระดาษที่มีมาตรฐานไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แล้วจึงนำไปห่อหุ้มผลไม้ก่อนนำแพ็กลงกล่อง
เมื่อเข้าสู่กระบวนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 50+-5 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษากล้วยหอมทองได้นาน 45 วัน โดยมีค่าเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักเท่ากับ 26.1 เปอร์เซ็นต์ ค่าความหนาแน่นเนื้อมีค่ามากที่สุดเท่ากับ 61.5 นิวตัน/ตร.ซม. ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้มีค่าน้อยที่สุดเท่ากับ 10.6 องศาบริคซ์ ค่าการเปลี่ยนสีผิวเปลือกกล้วยหอมทอง มีค่า a value เท่ากับ 9.1 และได้รับคะแนนยอมรับจากผู้บริโภค เท่ากับ 6.4 คะแนน
สำหรับ การเกิดเชื้อราที่ขั้วผลจะเริ่มเกิดขึ้นในวันที่ 21 ของการเก็บรักษา ซึ่งต่างจากกล้วยหอมชุด ที่ไม่ได้ยืดอายุจะเกิดเชื้อราในวันที่ 15 ของการเก็บรักษา
นอกจากนี้ทีมวิจัย ยังได้ทำการทดลองกับ มะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกที่ได้รับความนิยมของไทยเช่นกัน ซึ่ง ได้ผลดี สามารถชะลอ และ ยับยั้งการเกิดจุดดำบนผิว ทำให้ยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น ผิวมะม่วงสวยงามน่ารับประทาน
คาดว่าจะนำไปขยายผลยังผลไม้เพื่อการส่งออกชนิดอื่นๆต่อไปในอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 28 กรกฎาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=98500