โครงการอีสานเขียวในวันนี้ กับความหวังเกษตรกรผู้ปลูกยางภาคอีสาน
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 51
โครงการอีสานเขียวในวันนี้ กับความหวังเกษตรกรผู้ปลูกยางภาคอีสาน
เมื่อต้นยางพาราในภาคอีสานเติบโตให้ผลผลิตและทำรายได้สม่ำเสมอทุกวันกับเกษตรกรผู้ปลูกประกอบกับความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีนและอินเดีย ส่งผลให้ราคายางพาราปรับสูงขึ้นถึง กก.ละกว่า 100 บาท รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะขยายพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มเติมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ “โครงการยางพารา 1 ล้านไร่” เมื่อปี 2546 ปัจจุบันพบว่า ยางพารากลายเป็นพืชเศรษฐกิจของเกษตรกรในภาคอีสานและมีการขยายพื้นที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง
ทรงศักดิ์ ประจงจัด นายกชาวสวนยาง จ.เลย เล่าถึงที่มาของการปลูกยางพาราในพื้นที่จังหวัดเลยว่า เดิมทีเกษตรกรใน จ.เลย มีอาชีพปลูกข้าวโพด และมันสำปะหลังเป็นหลัก แต่เพราะพืชทั้งสองชนิดนี้มีราคาที่ไม่แน่นอน และนับวันราคาปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืชต่าง ๆ จะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย จนเป็นที่มาให้คนหนุ่มสาวต้องเข้าไปขายแรงงานในเมือง และปล่อยให้คนแก่กับเด็กอยู่กันลำพัง แต่หลังจากยางพาราในพื้นที่เริ่มให้ผลผลิตนอกจากคนหนุ่มสาวจะกลับมาทำงานที่บ้านและครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้ามากขึ้นแล้ว ความเปลี่ยนแปลงอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้น ปัจจุบันเกษตรกรใน จ.เลยไม่เพียงจะมีน้ำอุปโภคบริโภคที่เพียงพอตลอดทั้งปีเท่านั้น แต่หลายพื้นที่ยังมีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้งด้วย
นายกชาวสวนยาง จ.เลย ขยายความเพิ่มเติมว่า การส่งเสริมให้เกษตรกรในภาคอีสานปลูกยางพารา นอกจากจะช่วยให้เกษตรกรปลดภาระหนี้สินและมีรายได้ที่แน่นอนตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ต้นยางให้ผลผลิตแล้ว ในส่วนของภาครัฐโดยสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ยังได้รับประโยชน์จากการเก็บภาษีการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง (CESS) ในอัตรา 1.4 บาท/กก. ซึ่งถ้าคิดคร่าว ๆ ว่ายางพารา 1 ไร่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 290 กก./ปี ยางพารา 1 ล้านไร่จะได้ผลผลิตเฉลี่ย 290 ล้าน กก./ปี ดังนั้นภาครัฐควรเร่งผลักดันให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารามากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ยางพาราแล้ว ยังรวมถึงรายได้จากการเก็บภาษีส่งออกกว่าปีละ 360 ล้านบาทอีกด้วย
ด้าน ทองหยัน ศรีเมือง เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราใน อ.วังสะพุง จ.เลย เล่าว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการยางพารา 1 ล้านไร่เมื่อปี 2548 ได้ทดลองปลูกพืชมาทุกชนิดแล้วทั้งข้าวโพด มันสำปะหลัง และมะขามหวาน ตลอดจนเข้ามาขายแรงงานในเมือง แต่ไม่มีพืชชนิดไหนที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น ยิ่งทำก็ยิ่งเป็นหนี้ จนกระทั่งเห็นว่ายางของโครงการอีสานในพื้นที่ใกล้เคียงเริ่มให้ผลผลิต ซึ่งพอดีกับเจ้าหน้าที่ สกย. มาแนะนำให้เข้าโครงการปลูกยางพารา จึงตัดสินใจที่จะทดลองปลูกยางพาราจำนวน 10 ไร่
ทั้งนี้ ระหว่างรอให้ต้นยางพาราเติบโตพอที่จะกรีดน้ำยางได้ ด้วยความที่เป็นคนขยัน ทองหยันจึงตัดสินใจนำข้าวโพดมาปลูกแซมในสวนยางเพื่อเป็นรายได้เสริม พบว่าทั้งข้าวโพดและยางพาราเจริญเติบโตคู่กันได้ดีมาก นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระการกำจัดวัชพืชในสวนยางด้วย ปัจจุบันข้าวโพดรุ่น 3 ที่ปลูกแซมในสวนของทองหยันกำลังจะให้ผลผลิต ซึ่งเขาบ่นอย่างเสียดายว่าต่อไปคงปลูกข้าวโพดแซมไม่ได้แล้ว เพราะต้นยางในสวนขณะนี้เติบโตจนแสงแดดเริ่มส่องไม่ถึงพื้นด้านล่าง
“ผมเข้าร่วมโครงการยางพารา 1 ล้านไร่เมื่อปี 2548 โดยไม่มีความรู้เรื่องการปลูกยางพาราเลย แต่จากความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ของ สกย. กรมวิชาการเกษตรและภาคเอกชน ที่เข้ามาให้คำแนะนำเรื่องการปลูก การดูแลเป็นอย่างดีตลอดเวลา ทุกวันนี้ต้นยางที่ได้รับเจริญเติบโตดีมาก ไม่มีปัญหาโรคแมลง ถึงต้องรออีกประมาณ 3 ปีจึงจะเริ่มกรีดยางได้แต่ผมคิดว่าการปลูกยางพารา คือคำตอบสุดท้ายที่ผมและครอบครัวฝากความหวังไว้” ทองหยัน กล่าวทิ้งท้ายให้คิดกันทั่วหน้า
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 กรกฎาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=171649&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น