เมื่อวันที่ 16 มกราคม 51
เมื่อ 12 มกราคม 2551 นางยลวิไล ประสมสุข ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการเปิดกิจกรรม ณ ศูนย์ส่งเสริมเกษตรที่สูงดอยผาหม่น บ้านพญาเล่าอูหมู่ 23 ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ชื่อว่า “ทิวลิปบานวันเด็กแห่งชาติ บนผาหม่น”
ในวันนี้มีเด็กๆจากพื้นที่สูง เผ่าม้งขาว ม้งดำ มูเซอ อายุระหว่าง 3 ถึง 14 ปี ราว 1,000 คน แต่งกายชุดประจำเผ่า พร้อมผู้ปกครองบวกกับชาวพื้นราบในจังหวัดใกล้เคียง และนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯอีกจำนวนหนึ่ง เข้าชมดอกทิวลิปผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ได้รับความสุขความประทับใจกันถ้วนหน้า
ทิวลิป ที่ชูช่อบานสะพรั่งบนดอยผาหม่นในปีนี้มีจำนวน 25,000 ต้น 9 สายพันธุ์ คือ Strong Gold ดอกสีเหลือง Parade ดอกสีแดง Apel Doorn ดอกสีส้ม Negrita ดอกสีม่วง Don Quichotte สีชมพู Blenda สีชมพูโคนขาว Ile de France สีแดง Gander สีม่วงแดง และ Inzell ดอกสีขาว ตามธรรมชาติแล้วทิวลิปจะเจริญเติบโตในอุณหภูมิเฉลี่ย 18-20 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาในการปลูกราว 40 วัน ดอกจึงจะบานและจะสามารถอยู่ได้นาน 7 ถึง 15 วันในสภาพภูมิอากาศบนดอย หากนำลงมาข้างล่างจะอยู่ได้เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น และไม้ดอกทิวลิปกลุ่มนี้จะบานให้เห็นสีสันได้ จนถึงวันที่ 25 มกราคม 2551 ก็จะร่วงโรยลงไปตามกาลเวลา กลีบสุดท้ายของฤดูกาลบนดอยผาหม่น จะเป็นของดอกสีม่วง จากพันธุ์ Negrita
ทิวลิปบานบนดอยผาหม่นเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งอาจพูดได้ว่า เป็นสถานที่แห่งแรกเลยก็ว่าได้ โดยที่จะทำการปลูกนั้น นายไชยณรงค์ สวยงาม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6 ว หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงดอยผาหม่น ได้เดินทางไปอบรมการเพาะพันธุ์ดูแลบำรุงรักษาไม้หัวที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี 2536
...พอกลับมาจึงได้ดำเนินการทดลองและวิจัยในการปลูกทิวลิป และก็พบว่าในบ้านเราสามารถที่จะปลูกได้ถึง 20 สายพันธุ์...
....ถือว่าได้รับความสำเร็จไปได้ในส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่เทียมเท่ากับประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้วยยังขาดความรู้และเทคโนโลยี กับยังมีปัญหาในเรื่องของโลกร้อนจึงไม่สามารถ รักษาอุณหภูมิที่จะไปควบคุมระยะเวลาในการเบ่งบานได้..
การวิจัยและทดลองได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี 2542 การวิจัยและทดลองปลูกทิวลิปบนดอยผ่าหม่นก็เลิกท่าล่าถอยไป... ด้วยขาดงบประมาณในการสนับสนุนจากหน่วยงานต้นสังกัด
เมื่อ นายอุดมศักดิ์ คำมูล มารับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงจังหวัดเชียงราย จึงได้ปัดฝุ่นงานวิจัยให้ดำเนินการปลูกทดลองทิวลิป บนดอยผาหม่นอีกครั้งหนึ่งในปี 2549 โดยได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณจาก นางรัตนา จงสุทธนามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย
เนื่องจากทางจังหวัดเชียงรายมีการปรับภูมิทัศน์ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดความสนใจยิ่งขึ้นเพราะในช่วงปลายปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นภูชี้ฟ้า จะได้ชื่นชมความสวยงามไม้ดอกเหล่านี้...โดยมุ่งเน้นลิลลี่ กับ ทิวลิป
การปลูกทิวลิปครั้งนั้นใช้หัวพันธุ์กว่า 20,000 หัว 6 สายพันธุ์ ถือว่าเป็นแหล่งปลูกทิวลิปมากที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น แม้ในบริเวณการจัดงานพืชสวนโลกก็ยังมีน้อยกว่าดอยแห่งนี้ ..ถนนทุกสายได้มุ่งตรงมาดอยผาหม่น จนประทับใจว่า...ทิวลิปเป็นดอกไม้คู่เมืองเจียงฮาย...!!!
ปีนี้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายจัดงานเทศกาลปีใหม่ ดอกไม้บานที่เชียงราย ก็ได้ มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมเกษตรที่สูงดอยผาหม่นทำการเพาะปลูกดูแล จนกระทั่งออกดอกแล้วจึงนำลงมาให้นักท่องเที่ยวชมในงาน
นอกจากนั้น นายไชยณรงค์ สวยงาม ได้ทำการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการเพาะปลูกทิวลิปให้กับภาครัฐและเอกชนไปหลายแห่ง อย่างเช่นที่ สำนักงานอำเภอแม่อาย กับที่กฤษดาดอย จังหวัดเชียงใหม่...อีกทั้งให้เกษตรกรในจังหวัดเชียงราย ทำการเพาะต้นและดอกขายให้กับบริษัทส่งออกหลายแห่ง
13 ปีของคาบเวลาที่ดอกทิวลิปบานบนดอยผาหม่น...ซึ่งในปีหน้าก็ยังไม่รู้ว่าจะมีอีกหรือไม่ เนื่องจากจะต้องนำเข้าหัวพันธุ์และจะต้องสั่งซื้อกันข้ามปี (เพราะมีหลายประเทศที่เป็นลูกค้าต้องสั่งจอง)...หากล่าช้าก็จะต้องเข้าคิวรออีกในปีถัดไป
ฤาจะทิ้งไว้ให้ ทิวลิปบานเป็นเพียงตำนานบนผาหม่น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 16 มกราคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=75336