ยกระดับผลผลิตพืชพลังงาน กู้วิกฤติน้ำมันแพง
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 51
ยกระดับผลผลิตพืชพลังงาน กู้วิกฤติน้ำมันแพง
ประเทศไทย ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตสินค้า เกษตรและอาหารป้อนตลาดโลก ได้ตระหนักถึงปัญหาวิกฤติพลังงานและความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยในกลุ่มพืชที่ใช้ในการผลิตพลังงานทดแทน ทั้ง อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน กระทรวงเกษตรฯได้กำหนดนโยบาย ที่ชัดเจนมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีภาคการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตโดยภาพรวมของประเทศ แทนการขยายพื้นที่ปลูก และมีการจัดสรรปันส่วนระหว่างพืชเพื่อการบริโภค และพืชเพื่อใช้ในการผลิตพลังงานทดแทนอย่างชัดเจน
กรมวิชาการเกษตร ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านวิชาการและการพัฒนาเทคโนโลยี ภาคการผลิตสินค้าเกษตร จึงเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญ และได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลในภาคการผลิตมันสำปะหลัง และอ้อย ที่จะนำมาใช้ในการผลิตเอทานอล รวมถึงปาล์มน้ำมันที่จะนำมาใช้ในการผลิตไบโอดีเซลด้วย
นายจิรากร โกสัยเสวี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงการดำเนินงานในปัจจุบันว่า ปัญหาวิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้น หากมองในส่วนของประเทศไทยแล้ว ไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตพืชพลังงานทดแทนเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นได้ โดยในส่วนของพืชไร่ที่มีศักยภาพในการนำมาผลิตเป็นเอทานอล ทั้งมันสำปะหลังและอ้อย ปัจจุบันไทยมีเทคโนโลยีด้านการผลิตที่พร้อมจะสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นได้ เพื่อนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคมาใช้และป้อนเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล
พื้นที่ปลูกอ้อยในปัจจุบันมีอยู่ราว 6.4 ล้านไร่ ให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 11 ตัน กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดนโยบายที่จะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยใน 8 จังหวัดภาคกลาง และภาคเหนือ จำนวน 1 ล้านไร่ ที่มีศักยภาพในการผลิตอ้อย เพื่อเพิ่มผลผลิตโดยรวมของประเทศ พร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงพันธุ์อ้อย การบริหารจัดการแปลง การจัดทำระบบชลประทานที่เหมาะสม เพิ่มผลผลิตต่อไร่จากเดิม 11 ตัน เป็น 13 ตัน และเพิ่มผลผลิตโดยรวมของประเทศจาก 70 ล้านตัน:ปี เป็น 75 ล้านตัน:ปี ภายในปี 2554
ขณะที่ภาคการผลิตมันสำปะหลังก็จะดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน โดยมุ่งหวังที่จะเพิ่มผลผลิต มันสำปะหลังโดยรวมของไทยที่มีราว 30 ล้านตัน:ปี เป็น 40 ล้านตัน:ปี ภายในปี 2554 ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตในพื้นที่ปลูกที่มีศักยภาพในการปลูกมันสำปะหลังใน 35 จังหวัด ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่จากเดิม 3 ตัน:ไร่ เป็น 5 ตัน:ไร่ โดยอาศัยการปรับเปลี่ยนพันธุ์มันสำปะหลังให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก การจัดการพื้นที่ปลูกที่มีปัญหาดินดาน และการบริหารจัดการแปลงปลูกทั้งน้ำและการให้ปุ๋ย ภายในปี 2554 ในพื้นที่ปลูกที่มีอยู่แล้ว 7.4 ล้านไร่ทั่วประเทศ
นายจิรากร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ส่วนปาล์มน้ำมันที่นำมาใช้ในการผลิตไบโอดีเซลนั้น ส่วนใหญ่มักจะปลูกอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และขยายมายังภาคตะวันออก ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกอีก 2.5 ล้านไร่ ในปี 2554 และขยายพื้นที่ปลูกไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีศักยภาพ โดยกรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างศึกษาและทดลองปลูกในพื้นที่ จ.หนองคาย หากการทดสอบประสบความสำเร็จ ก็จะดำเนินการคัดเลือกพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในจังหวัดอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ เชื่อว่าหากประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมในส่วนภาคการผลิตพืชพลังงานไว้รองรับเป็นอย่างดีเช่นนี้ นอกจากจะสร้างความมั่นคงทางอาหารแล้วยังสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน อย่างยั่งยืนอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 กรกฎาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=171806&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น