ชลประทานท้องถิ่น ดึงชุมชน ร่วมแก้ปัญหาเรื่องน้ำ
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 51
ชลประทานท้องถิ่น ดึงชุมชน ร่วมแก้ปัญหาเรื่องน้ำ
นโยบายหลักที่สำคัญในปีที่กรมชลประทานมีอายุย่างเข้าปีที่ 107 คือ มุ่งเน้นการทำงานโดยให้ประชาชน ชุมชน และเกษตรกร ผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน โดยการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานในเขตพื้นที่ชลประทาน ให้เป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกัน แบบร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำชลประทาน
ปัจจุบัน ได้มีการนำกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ของสำนักงานสนับสนุนกองทุนวิจัย (สกว.) มาประยุกต์ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทานเป็นการเพิ่มเติม ซึ่งเรียกว่า “โครง การชลประทานเพื่อท้องถิ่น (ชปท.)”
นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการชลประทานเพื่อท้องถิ่น เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันพัฒนาการชลประทาน และ สกว. เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้กระบวนการวิจัยท้องถิ่น สร้างความร่วมมือในการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่ชลประทานและชุมชนท้องถิ่น ในการช่วยกันร่วมงานแก้ไขปัญหาการใช้น้ำ
ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่เกษตรกรและ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มาร่วมกันคิด ร่วมกันตั้งคำถาม วางแผน วิเคราะห์ สังเคราะห์ และวิจัยเพื่อค้นหาทางเลือกในการแก้ปัญหาหรือตอบข้อสงสัยของเกษตรกร ซึ่งการทำเช่นนี้นอกจากจะได้รับรู้ความต้องการของเกษตรกรแล้ว ยังทำให้เกิดความเข้มแข็งในกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานอีกด้วยทั้งนี้ได้เลือก ชุมชนบ้านใหม่ ตำบลวัดขวาง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร เป็นพื้นที่นำร่อง
นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ หัวหน้าทีมวิจัยชลประทานท้องถิ่น สถาบันพัฒนาการชลประทาน เปิดเผยว่า แนวความคิดที่จะใช้กระบวนการวิจัยเข้าไปเสริมการทำงานชลประทาน เนื่องจากที่ผ่านมากรมชลประทานได้พยายามหากลไกสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะขาดกระบวนการในการทำงานร่วมกับชุมชนโครงการชลประทานเพื่อท้องถิ่น จะเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางทำงานเกี่ยวกับเรื่องน้ำของชุมชนใหม่ทั้งหมดภายใต้หลักการให้การรวมตัวของกลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีความต้องการแก้ปัญหาของกลุ่มหรือชุมชนด้วยตนเอง หากเกินความสามารถจึงขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือจากกรมชลประทานต่อไป
สำหรับชุมชนบ้านใหม่ ที่ใช้นำร่องในการดำเนินโครงการนั้น ก่อนที่จะมีคลองชลประทานผ่าน สามารถทำนาได้เพียงปีละ 1 ครั้ง เป็นนาน้ำฝน เมื่อมีคลองชลประทานก็สามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง แต่ก็มีปัญหาน้ำไปไม่ถึงปลายคลอง ทำให้ผู้ใช้น้ำได้รับน้ำแบบไม่ทั่วถึง
ฉะนั้นการแก้ปัญหาเรื่องน้ำของชุมชน หากเริ่มแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน เมื่อเกินขีดความสามารถค่อยร้องขอจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหรือจากกรมชลประทาน อย่างเช่นชุมชนบ้านใหม่ ตำบลวัดขวาง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ก็จะเป็นหนทางที่นำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ที่จะสามารถสนองความต้องการของเกษตรกรในแต่ละชุมชนได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนนั่นเอง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 31 กรกฎาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=171893&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น