MOU ช่องทางความมั่นคง ด้านการตลาดในสินค้าเกษตร
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 51
MOU ช่องทางความมั่นคง ด้านการตลาดในสินค้าเกษตร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ มีภารกิจหลักในการส่งเสริม เผยแพร่ ให้ความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ หลักการและวิธีการสหกรณ์ให้แก่บุคลากรสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชนทั่วไป ตลอดจนการพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในการเพิ่มขีดความสามารถในด้านการบริหารการจัดการ การดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิ ภาพและมั่นคง
ช่องทางในการกระจายสินค้าและสร้างฐานตลาดรับซื้อสินค้าที่มั่นคงนั้นแนวทางหนึ่งคือ การทำบันทึกความเข้าใจ (MOU-Memorandum of Understanding) ในการซื้อขายสินค้าระหว่าง สหกรณ์และบริษัทเอกชน ซึ่งจะทำให้ช่องทางการจำหน่ายสินค้าของสมาชิกสหกรณ์มีความมั่นคงในระยะยาว
การทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการซื้อขายสินค้าที่ผ่านมามีอยู่หลายชนิด อาทิ ความร่วมมือทางการค้าในการซื้อขายข้าวของสหกรณ์ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับบริษัทแอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้คัดเลือกสหกรณ์การเกษตรที่มีการแปรรูปข้าวที่มีศักยภาพและเป็นสหกรณ์ที่ผลิตข้าวหอมมะลิแท้ จำนวน 10 สหกรณ์ จำหน่ายข้าวสารให้กับบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมอบอำนาจให้บริษัท ซี เอ เอส อินเตอร์เทรด จำกัด ดำเนินการแทนสหกรณ์ ซึ่งส่งมอบตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2542 โดยมีการตกลงซื้อขายปีละ 2-4 ครั้ง ปัจจุบันทำสัญญาซื้อขายข้าวรวมแล้ว 24 ลอต ในรอบ 9 ปี จำนวน 23,089.358 ตัน คิดเป็นมูลค่า 424.124 ล้านบาท โดยจะทำการส่งมอบลอตที่ 24 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2551-เดือนมกราคม 2552
ความร่วมมือทางการค้าผลไม้ของสหกรณ์ในภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคเหนือ กับห้างโมเดิร์นเทรด โดยสินค้าผลไม้มีทั้ง เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด สละ ลำไย แก้วมังกร ซึ่งได้ทำสัญญามาตั้งแต่ปี 2548 จำนวน 75,603 ตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1,142.18 ล้านบาท
การซื้อขายถั่วเหลืองคุณภาพดีเพื่อนำไปแปรรูปเป็นน้ำนมถั่วเหลืองไวตามิ้ลค์ระหว่างสหกรณ์การเกษตรแม่ริม จำกัด สหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด และสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จำกัด กับบริษัท กรีนสปอต (ประเทศไทย) จำกัด มีการเจรจากันตั้งแต่ปี 2549 มียอดรวม 1,202.985 ตัน รวมมูลค่า 16,841,790 บาท ผลผลิตจากสมาชิก 860 ราย รวมพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 3,400 ไร่
การซื้อขายกุ้งขาวแวนาไม ระหว่างชุมนุมสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งแห่งประเทศไทย จำกัด กับบริษัทภาคเอกชนทั้งของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น โดยทำสัญญากับห้างแม็คโคร ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 2 ตัน ระหว่างชุมนุมสหกรณ์ฯกับบริษัท ไทยแลนด์ โคลต์สตอเรจ จำกัด เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 จำนวนเดือนละ 60 ตัน มูลค่ากว่า 70 ล้านบาท
การซื้อขายระหว่างชุมนุมสหกรณ์ฯ กับบริษัท Harnet Corporation จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารและกุ้งไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีการลงนามซื้อขายปีละ 1,000 ตัน มูลค่ากว่า 225 ล้านบาท และปี 2551 คาดว่าจะมีการทำสัญญาไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท
การทำข้อตกลงซื้อขายน้ำนมดิบระหว่างสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศกว่า 100 แห่งกับผู้ประกอบการภาคเอกชน ตั้งแต่ปี 2547 ระหว่างเกษตรกร ผู้เลี้ยงโคนมกับกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ และ กลุ่มผู้ประกอบการนมพาสเจอไรซ์ และในปี 2551 เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการเสนอแผนประมาณการผลิตและความต้องการรับซื้อน้ำนมดิบ และจัดทำบันทึกข้อตกลงการบริหารน้ำนมดิบ (MOU) ปี 2551 มีผลถือใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2552 มีปริมาณการซื้อขายน้ำนมดิบประมาณ 2,336.40 ตันต่อวัน เป็นน้ำนมดิบของสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม 100 สหกรณ์ เฉลี่ยวันละ 1,579.59 ตัน คิดเป็นร้อยละ 66.75 ส่วนที่เหลือประมาณ 33.25 เป็นผลผลิตจากเกษตรกรที่ไม่ใช่สมาชิกสหกรณ์
จะเห็นได้ว่าการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซื้อขายสินค้าทั้ง 5 ชนิดที่กล่าวมาข้างต้น ระหว่างสหกรณ์และภาคเอกชน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้การช่วยเหลือและประสานงานเพื่อให้สมาชิก ของสหกรณ์มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนนั้น ถือได้ว่าเป็นการทำหน้าที่ที่มีเป้าหมาย เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ทุกคนมีความเป็นอยู่ตลอดถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมนั่นเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 สิงหาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=172047&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น