เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 51
นักวิทยาศาสตร์และวิจัยไทย ในยุคนี้ตื่นตัวกับคุณค่าของสมุนไพรจาก ธรรมชาติเป็นอย่างสูง โดยจะทำการศึกษาวิจัยและนำโอสถสารมาใช้ ทั้งในวงการแพทย์และภาคการเกษตรทดแทนสารสังเคราะห์หรือเคมี ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกษตรกรไม่พึ่งพาสารเคมี เพราะแต่ละปีต้องสูญเสียเงินตราเป็นจำนวนมากเพื่อซื้อนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นการประหยัดและยังลดต้นทุนการผลิต
ปาหมี หรือ พาหมี พืชสมุนไพรพื้นบ้านอีกตัวหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนักวิชาการ โดยภูมิปัญญาชาวบ้านได้นำลำต้นและรากมาคั้นเอาน้ำที่มีฤทธิ์แรงใช้ วางยาเบื่อปลา และ ฉีดพ่นไล่เพลี้ยไฟมะม่วง ทั้งยังใช้ผสมกับน้ำสมุนไพรหมักเป็น สารกำจัดแมลงในแปลงผัก
ดร.มณี ตันติรุ่งกิจ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พร้อมทีมงาน ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง ประกอบด้วย ดร.พัชราภรณ์ ภู่ไพบูลย์ นางอรวรรณ ชวนตระกูล และ นางสาวชมนาถ เกิดคง จึงร่วมกัน วิจัยเพื่อหาฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ ของสารสกัดหยาบจากปาหมี ANTIMIC-ROBIAL ACTIVITY OF CRUDE EXTRACTS OF PAMEE เพื่อศึกษาวิจัยศักยภาพและประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากปาหมี ในการยับยั้งและฆ่าทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายขึ้น
ดร.พัชราภรณ์ ภู่ไพบูลย์ หนึ่งในทีมงานวิจัยบอกว่า ได้ทำการสกัดสารออกฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ จากลำต้นแห้งของปาหมีด้วย ethanol (PE1) พบว่ามีสารออก ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ในสารสกัดหยาบ สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตได้ในระดับความเข้มข้นสูงสุดที่ใช้ทดสอบ คือ 2.5 มก./มล.
เมื่อทดลองนำ สารสกัดPE 1 ไปแยกสารใน กลุ่มที่มีขั้วกับไม่มีขั้วออกจากกัน โดยวิธี การแลกเปลี่ยนระหว่างชั้นของสารละลาย ethy 1 acetate และ น้ำในอัตราส่วน 2 : 1 นำ ส่วนที่ได้จากการแยกไป ทดสอบการออกฤทธิ์ของสารสกัด ใน กลุ่มที่ไม่มีขั้ว พบว่า ไม่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ใช้ในการทดสอบได้ทุกสายพันธุ์
แต่เมื่อนำสารใน กลุ่มที่มีขั้ว มาทดสอบ พบว่า สามารถฆ่าทำลายและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ที่ใช้ทดสอบได้ทุกสายพันธุ์ โดยมีระดับความเข้มข้นอยู่ที่ 90 มก./มล.
นอกจากนี้ สารสกัดกลุ่มที่มีขั้ว ยังมีฤทธิ์ยับยั้ง C albicans และ F oxysporum ได้ ที่ระดับความเข้มข้น 180 มก./มล. แต่ก็ยังไม่ สามารถฆ่าทำลายเชื้อราได้ ซึ่งแสดงให้ทราบว่า สารสกัดที่มีขั้วซึ่งละลายในน้ำมีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ต่อแบคทีเรียสูงกว่า เชื้อรา
ผลการทดลองแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของปาหมี ในการต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียทั้งแกรมบวกและแกรมลบที่อาจก่อให้เกิด โรค S. aureus ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิด ฝีหนอง E.coli และบางสายพันธุ์อาจก่อ โรคอาหารเป็นพิษ มักจะเป็น เชื้อโรคของปลา
ซึ่งสามารถทำการวิจัยต่อยอด นำสารสกัดจากปาหมีไปประยุกต์ ใช้ใน วงการแพทย์ ทางการ ปศุสัตว์ ประมง และ กสิกรรม ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจะสร้างประโยชน์ และคุณค่าอย่างมหาศาลได้ในอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 4 สิงหาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=99320